ขายสินค้าออนไลน์ 4 แบบ สำหรับมือใหม่ ไม่กล้าลงทุนเยอะ

อยากเป็นแม่ค้าออนไลน์ อยากมีรายได้เสริม แต่ไม่กล้าเสี่ยง

กลัวว่าลงทุนไปแล้วจะเจ๊ง…ต้องอ่าน

ขายสินค้าออนไลน์ 4 แบบ สำหรับมือใหม่ ไม่กล้าลงทุนเยอะ

การลงทุนมีความเสี่ยง…

โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นแม่ค้ามือใหม่ ที่ไม่ประสีประสากับการตลาดบนโลกออนไลน์ ที่แข่งขันกันฟาดฟันเพื่อแย่งกลุ่มลูกค้ากันทุกวันอย่างดุเดือด

และถ้าคุณอยากก้าวเท้าเข้ามาค้าขายในโลกออนไลน์ที่หมุนไปไวจนคุณคาดไม่ถึงแห่งนี้ ต้องระวัง !

เพราะความเสี่ยงนั้น อาจไม่คุ้มค่า…หากเงินทุนในกระเป๋าของคุณไม่หนักแน่นพอ

แต่ไม่ลอง ก็ไม่รู้ใช่ไหมล่ะ

แล้วถ้าไม่ลงมือทำ ก็คงไม่ได้เห็นผลลัพธ์

และนี่คือ วิธีขายของบนโลกออนไลน์ 4 รูปแบบ ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ ผู้ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าลงทุน แต่ทำแล้วได้ผลจริง เปอร์เซ็นต์เจ๊งเกือบเป็นศูนย์

แบบที่ 1 ไม่มีทุน ไม่สต็อกสินค้า

การเริ่มต้นเส้นทางในโลกธุรกิจที่ไม่มีความแน่นอนเช่นนี้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าสินค้าจะขายได้หรือไม่ได้ จะขายดีหรือเตรียมตัวเจ๊ง

และคงไม่มีใครอยากสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ มากองไว้ แล้วขายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ทุนจมหาย และปิดร้านไปแบบขาดทุนในที่สุด

เพราะฉะนั้น ทางเลือกที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยมาก ๆ ก็คือการขายแบบไม่สต็อกสินค้านั่นเอง

การขายแบบไม่สต็อกสินค้า มีข้อดีอย่างไร ?

แน่นอนว่าข้อดีของมัน คือการที่เราไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าล่วงหน้าเยอะ ๆ

เพียงแค่ถ่ายรูปสินค้าจากร้านค้าส่ง แล้วนำรายละเอียดสินค้ามาลงไว้ในสื่อโซเชียลมีเดียที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram หรือเว็บไซต์ของร้านเรา

จากนั้น เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อ หรือโอนเงินเข้ามา เราค่อยไปสั่งซื้อของจากร้านค้าส่ง แล้วจัดส่งให้กับลูกค้าของเราอีกที ซึ่งการจัดส่งก็จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ร้านค้าส่ง ส่งสินค้าให้ลูกค้าในนามของเรา (แต่เราอาจไม่ได้เช็กสภาพสินค้าจริงก่อน)

2. ร้านค้าส่ง ส่งสินค้าให้เราก่อน จากนั้นเราต้องจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าด้วยตัวเอง (แบบนี้จะเปลืองค่าส่งมากกว่าหน่อย แต่เราจะได้เห็นสภาพสินค้าจริงก่อนส่งให้ลูกค้า)

แล้วข้อเสียล่ะ คืออะไร ?

ข้อเสียสำหรับการไม่สต็อกสินค้า คือ บางทีลูกค้าออร์เดอร์มาเยอะ แต่ร้านค้าส่งดันของหมด ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาวุ่นวาย ต้องคอยอธิบายให้ลูกค้าฟัง และเสียโอกาสได้เงินไปอย่างเสียดาย

อีกทั้งในบางครั้งก็เช็กสต็อกยาก ใช้เวลานานกว่าจะตอบลูกค้าได้ว่ามีของพร้อมส่งไหม ทำให้แม่ค้าอย่างเราก็พลอยอึดอัดใจไปด้วย (ทำยังไงได้ ก็คนมันอยากขายอะเนอะ)

และข้อเสียอีกข้อที่สำคัญ คือ ‘กำไรน้อย’ สินค้าบางอย่างได้กำไรแค่ 10-20% แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีทุน ก็ถือว่าเป็นการชดเชยที่ไม่ต้องออกเงินซื้อของมาตุนไว้ขายเอง (ถ้ารับได้ วิธีนี้ก็เวิร์กนะ)

แบบที่ 2 มีทุนน้อย สต็อกสินค้าได้นิดหน่อย

สำหรับคนที่มีทุนน้อย หรือไม่กล้าลงทุนเยอะ ๆ แต่อยากลองสต็อกสินค้าดู ต้องรับความเสี่ยงให้ได้และมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าของที่เราสั่งมาจะสามารถขายได้ จะมีคนสั่งซื้อบ้าง (หรือถ้าขายไม่ออก ต้องทำใจเก็บไว้ใช้เองได้)

เช่น นาย A พอมีเงินทุนอยู่บ้าง จึงสั่งสินค้ามาเก็บไว้ 1-2 ชิ้น เมื่อสินค้าเริ่มขายได้ หรือของเริ่มพร่องไป จึงจะสั่งมาเก็บไว้อีก 1-2 ชิ้น เริ่มจากน้อย ๆ อย่างนี้ ไม่ต้องใช้ทุนมากก็สามารถเปิดร้านขายสินค้าออนไลน์ได้แล้ว

การขายแบบสต็อกสินค้า มีข้อดีอย่างไร ?

ข้อดีของการขายของออนไลน์รูปแบบนี้คือ เราบริหารสต็อกเอง ตอบลูกค้าได้รวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอร้านค้าส่งให้เสียเวลา

พอลูกค้าโอนเงินมา เราก็จัดส่งของได้ทันที แล้วแจ้งเลขพัสดุได้เลย

ปิดงานไว ขายคล่อง ลูกค้าสบายใจ เราก็ได้ยอดขายปัง ๆ

แล้วข้อเสียล่ะ คืออะไร ?

ข้อเสียแบบซวยสุด ๆ เลยก็คือ สินค้าขายไม่ออก

บางทีเราสต็อกสินค้าชิ้นนี้ไว้ แต่ลูกค้าดันอยากได้อีกชิ้นหนึ่ง กลายเป็นเรื่องวุ่นวาย และพลาดยอดขายไปอย่างน่าเสียดายซะงั้น

เพราะฉะนั้น ต้องเผื่อใจไว้บ้าง ถ้าจะสต็อกสินค้าเก็บไว้ขายเอง

แบบที่ 3 สั่งผลิตตามออร์เดอร์

การขายในรูปแบบนี้คือ ลูกค้าขอมาเลยว่าอยากได้สินค้าแบบไหน

จากนั้น เราจึงนำคำขอนั้น ๆ ไปคุยกับโรงงานผลิต ว่าโรงงานสามารถผลิตได้ไหม แล้วถ้าผลิตได้ ต้องใช้เวลากี่วันหรือกี่เดือน แล้วต้นทุนในการผลิตชิ้นละเท่าไร

เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงแจ้งลูกค้าเพื่อส่งใบเสนอราคา ดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ให้ลูกค้าจ่ายเงิน แล้วตกลงกำหนดวันจัดส่งสินค้า

สั่งผลิตตามออร์เดอร์ มีข้อดีอย่างไร ?

ข้อดีของรูปแบบนี้คือ เราสามารถสั่งผลิตสินค้าได้ตามใจลูกค้า กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดั่งใจ

แถมยังไม่ต้องลงทุนสต็อกของเยอะ ๆ เนื่องจากเป็นการนำเงินของลูกค้ามาใช้ในการสั่งผลิตสินค้า ซึ่งทำให้เราได้กำไรค่อนข้างสูง

แล้วข้อเสียล่ะ คืออะไร ?

ถ้าการผลิตเกิดข้อผิดพลาด งานนี้เราจะเข้าเนื้อเต็ม ๆ และอาจทำให้สินค้าที่ผลิตมา (แต่ใช้ไม่ได้) กองจนล้นโกดัง เพราะขายไม่ออก

วิธีแก้คือ เราอาจต้องจัดสารพัดโพรโมชัน ทั้งลด แลก แจก แถม ยอมขาดทุนสักนิด เพื่อเคลียร์สินค้านั้นออกจากคลัง

แบบที่ 4 ผลิตสินค้าด้วยตัวเอง

สินค้าบางอย่าง เราสามารถจัดทำด้วยตัวเองได้ เช่น งานฝีมือ งานศิลปะ รับตัดเย็บเสื้อผ้า รับวาดรูป รับทำงานประดิษฐ์ หรือทำขนมขบเคี้ยว คุกกี้ เบเกอรีต่าง ๆ

งานรูปแบบนี้ทำแล้วมีความสุข เพราะมักจะเป็นสิ่งที่เราฝึกฝน หัดทำมาด้วยความชื่นชอบ เมื่อสินค้าขายได้เราก็ดีใจ แถมยังได้กำไรงามพอควร

ผลิตสินค้าด้วยตัวเอง มีข้อดีอย่างไร ?

ทำเอง ขายเอง ได้ใช้ความสามารถของตัวเอง ควบคุมเวลาได้ดั่งใจ เลือกสินค้าที่จะทำขายได้ตามใจชอบ (แต่ต้องดูด้วยว่าลูกค้าจะชอบไหม)

แล้วข้อเสียล่ะ คืออะไร ?

บางครั้ง ถ้าขายดีมาก ๆ หรือมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ๆ แม่ค้าก็ทำไม่ทันจนต้องจ้างคนอื่นมาช่วยผลิต ซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้เราปวดหัวกับการจ้างงาน  ได้ชิ้นงานที่ไม่ตรงตามความต้องการบ้าง ฝีมือไม่ดีบ้าง ทำงานไม่รอบคอบบ้าง ยุ่งยากกว่าเดิมหลายเท่า

วิธีแก้ปัญหาคือ ถ้าต้องจ้างงาน ตอนสมัครต้องเรียกคนมาสัมภาษณ์และทดลองงานหลาย ๆ คน เราจะได้มีโอกาสเลือกมากขึ้น จากนั้นให้เขาลองทำชิ้นงานจริง ๆ ดู ถ้าฝีมือถึง สามารถพัฒนาได้อีกไกล และอุปนิสัยใจคอเข้ากันได้ ก็รับไว้พิจารณา หรือจ้างให้เข้ามาเป็นลูกมือเราได้ทันที

ทุนน้อย อย่าเพิ่งเสี่ยงเยอะ

การขายสินค้าออนไลน์ ต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป

เรียนรู้การตลาด พัฒนาตัวเอง ค้นหาความต้องการของลูกค้า และหมั่นศึกษาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

จะค้าขายบนโลกออนไลน์อย่างยั่งยืน คุณต้องเข้าใจว่าโลกออนไลน์นั้นหมุนไปไวมากเหลือเกิน  ถ้าไม่ปรับไม่เปลี่ยนให้ทันคู่แข่ง ไม่เตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยง คุณก็อาจเจ๊งได้ทุกเมื่อ

“มีอิสระทางการเงิน ด้วยการขายออนไลน์ คุณทำได้…ไม่ยาก”

อ้างอิง: ข้อมูลจากหนังสือ ทำเงินออนไลน์ ด้วยทุน 0 บาท

เรียบเรียงบทความโดย
กองบรรณาธิการ 7D Book

Scroll to Top