วางโครงสร้างธุรกิจ ด้วยความคิดอย่างผู้ใหญ่

วางโครงสร้างธุรกิจ ด้วยความคิดอย่างผู้ใหญ่

จุดเริ่มต้นของทุกการแข่งขัน ไม่ใช่การฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง หรือมีต้นทุนที่สูงลิ่ว สิ่งที่เหนือกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นอะไรที่ง่าย ซึ่งทุกคนน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว นั่นคือ การวางแผน

วางโครงสร้างธุรกิจ ด้วยความคิดอย่างผู้ใหญ่

เคยมีคนบอกว่าชีวิตที่ไม่มีแผน ก็ไม่ต่างอะไรจากการหลับตาขับรถ ถึงในทุกวินาทีจะไม่มีการหยุดนิ่ง แต่เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าปลายทางจะไปจบตรงไหน และทางที่กำลังไปนั่นคือการเดินไปข้างหน้าจริง ๆ หรือเป็นการถอยหลังอย่างไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้การวางแผนจึงเป็นเหมือนกระดูกสันหลังชิ้นสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างให้แนวทางในการดำเนินการชีวิตต่อไป

จะสร้างบ้านยังต้องร่างแบบ จะเดินทางยังต้องคำนวณเส้นทาง จะตื่นนอนยังต้องคำนึงถึงเวลาหลับ แล้วนับประสาอะไรกับการมีธุรกิจที่จะต้องมีโครงสร้างเพื่อวางแผนให้กับความสำเร็จ

ท่ามกลางวงล้อมที่รอบข้างเต็มไปด้วยธุรกิจเกิดใหม่ทั้งร้านเสื้อผ้า เทคโนโลยี สถานบันเทิง หรือแม้แต่ร้านอาหาร ทุกที่ต่างล้วนมีคู่แข่งด้วยกันทั้งสิ้น

หากในขณะที่เรากำลังตั้งตาที่จะหาวิธีเอาตัวรอดจากคู่แข่งเหล่านั้น อาจทำให้มุมมองแคบเกินกว่าจะเข้าใจทั้งหมด เพราะหากลองมายืนตรงที่สูงกว่าเดิม ก็จะพบว่ามีอะไรอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงมากพอ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งควรถอยออกมาเพื่อสังเกตความเป็นไปในตลาดธุรกิจในปัจจุบัน

เหมือนกับทีมกีฬาที่ต้องมีโค้ชและผู้เล่น เพราะคนในสนามจะมองเกมได้ไม่ละเอียดเหมือนกับโค้ชที่อยู่ข้างสนามหรอก ลำพังจะโฟกัสหน้าที่ตัวเองในสนามยังลำบาก การจะให้คอยมาสังเกตการณ์เพื่อวิเคราะห์อย่างจริงจังคงต้องลืมไปได้เลย

เมื่อพร้อมจะลงมือ ก็ได้เวลามาสร้างแผนไปพร้อมกัน..

วางโครงสร้างธุรกิจ ด้วยความคิดอย่างผู้ใหญ่

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงการจะจัดโครงสร้างของระบบธุรกิจ สิ่งนี้เปรียบเสมือนการกำหนดหน้าที่และแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อที่จะรู้อยู่เสมอว่าเป้าหมายคืออะไร

อีกนัยหนึ่งคือการดูความมั่นคงเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยในองค์กร จัดที่ทางให้การดำเนินงานเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนและทุกคนในองค์กรเข้าใจโครงสร้างไปในทางเดียวกัน

ความสำคัญไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ที่มากไปกว่านั้นยังไปถึงการควบคุมการดูแลงบประมาณจัดสรรระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะควบคุมความเป็นไปในทิศทางการเติบโตของธุรกิจได้อย่างรอบคอบ

แล้วเมื่อทุกอย่างเริ่มมองภาพชัดขึ้น ก็จะเห็นทั้งจุดแข็งและจุดด้อยของธุรกิจ ทีนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่จะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และผลลัพธ์ก็จะ ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับวิถีทางในการปฏิบัติต่อไปจากผู้เป็นเจ้าของกิจการ

หลายตำราทั้งไทยและเทศได้ว่าไว้ถึงการจัดสรรโครงสร้างธุรกิจ บางที่ก็มีวิธีที่แตกต่างกัน แต่หลัก ๆ แล้วจากการศึกษารวบรวมข้อมูล จะพบว่าในบรรดาข้อกำหนดพวกนั้นจะมีคีย์แมสเสจบางอย่างซ่อนอยู่ที่คล้ายกัน ดังต่อไปนี้

ลำดับแรกจะเป็นอะไรไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ แนวคิดหลักในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ต้องรู้โดยละเอียด เพราะหากยังตอบคำถามข้อสงสัยไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่พร้อมที่จะเริ่มต้นในเส้นทางนี้

โดยแนวคิดที่ว่าคือการทำความรู้จักกับธุรกิจของตัวเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน รู้ว่าจะขายอะไร ทำไปเพื่อใคร แล้วมีประโยชน์อย่างไร ต้นกำเนิดของสิ่งที่จะสร้างมาจากไหน

จากนั้นค่อยมาดูที่โอกาสในการแข่งขันว่าเป็นไปได้มากแค่ไหน แล้วตั้งเป้าหมายระยะเริ่มแรก วางกลยุทธ์และแผนที่จะใช้ทั้งการเงินรวมถึงแผนดำเนินงาน และคิดถึงผลสุดท้ายที่จะตามมา

เมื่อเริ่มแบ่งหมวดหมู่แล้ว สิ่งที่คนธุรกิจทำกันคือการใส่ Story Telling ลงไป เรื่องราวของที่มาและแหล่งหาต้นทุนต่าง ๆ รวมถึงแผนงานที่ใช้ในปัจจุบัน และถ้าหากถึงเป้าหมายที่วางไว้มีแผนจะพัฒนาต่อยอดอย่างไรกับสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ควรคิดไว้เนิ่น ๆ เพราะเมื่อถึงเวลาจริงจะได้ไม่เสียเวลา เดินหน้าต่อได้ทันที

ต่อมาได้เวลาของการวิเคราะห์กันอย่างลงลึกสักที การทำธุรกิจต้องมั่นใจในข้อดีและยอมรับในข้อเสีย ยิ่งมองเห็นข้อเสียมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสแก้ไขเพื่อลดความผิดพลาดได้มากเท่านั้น

อีกครั้งที่การใช้ทฤษฎีมีผลต่อการวางแผนงาน สำหรับการหาข้อดีและประเมินข้อเสีย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดหลัก SWOT หลักพื้นฐานที่จะทำให้รู้จักกับธุรกิจของคุณมากยิ่งขึ้น

เข้าสู่การวิจัยทางการตลาด ยิ่งเป็นธุรกิจอาหารการตลาดจึงมีผลค่อนข้างสูง เพราะขนาดของตลาด มีผลต่อการกำหนดเป้าหมาย เพราะเมื่อรู้จักเป้าหมาย ก็จะนำไปสู่การหากลยุทธ์มาพัฒนาต่อ และการเล่นกับกระแสก็เป็นอีกเครี่องมือในการตลาดที่จะช่วยพัฒนาต่อในธุรกิจได้

ทีนี้แผนในการดำเนินต่อเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงการให้บริการ สำหรับธุรกิจอาหารต้องเริ่มจากการหาวัตถุดิบและวิธีการผลิต ไปถึงการควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่ต้องการให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการบริหารพนักงานในองค์กร การควบคุมการจัดส่ง ช่องทางการจัดซื้อ และจัดสินค้าควบคุมปริมาณให้เหมาะสมเป็นส่วนประกอบของแผนการดำเนินงานทั้งหมด

มาถึงเรื่องที่จะไม่แตะไม่ได้คือการเงิน นี่คือเรื่องที่ต้องละเอียดรอบคอบเป็นอันดับหนึ่ง ให้คิดไว้เสมอว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมีการเสียหาย ดังนั้นในแผนธุรกิจส่วนนี้จะต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ กับการดูแลระบบการเงิน

ไม่เพียงแค่ทำรายรับ-รายจ่าย แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุน ขาดทุน กำไร อย่างละเอียด ที่ขาดไม่ได้คือการกำหนดระยะเวลา ถ้าลงทุนเท่านี้ ควรจะได้คืนกำไรต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้สายพานของเงินหมุนเวียนได้อย่างทันเวลา และไม่เป็นปัญหาตามมา พร้อมทั้งยังต้องมั่นใจในการเส้นทางของเงินว่าแข็งแรงพอ จะต้องไม่ปล่อยให้ธุรกิจอยู่ในสภาวะพึ่งพาใคร ต้องมีแผนสำรอง เพื่อจัดการเงินให้เพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละเดือน

สุดท้ายต่อให้จะมีแผนที่ยอดเยี่ยมและแข็งแรงสักแค่ไหนก็มีโอกาสเกิดอะไรที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ และสิ่งที่จะประคองให้เหตุการณ์เหล่านั้นเบาลง คือการวางแผนรับมือกับเรื่องพวกนี้

ทุกธุรกิจต้องมีการรองรับความเสียหายเพื่อประกันได้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นก็จะผ่านไปได้ด้วยดี ยิ่งมีแผนเร็วเท่าไหร่ก็จะรับมือได้ความเสียหายน้อยเท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมที่จะคิดอย่างรอบคอบให้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือเลย

หากกล่าวในทางตรงกันข้าม แผนธุรกิจก็มาจากแผนที่อยู่ในหัวเจ้าของกิจการอยู่แล้ว เพียงแค่การนำออกมาให้เป็นรูปร่างจะทำให้ทุกคนเข้าใจวิธีการทำงาน ดังนั้น ต่อให้จะมีแผนที่รัดกุมดีขนาดไหน ก็ต้องไม่ลืมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ แล้วการเรียนรู้จากประสบการณ์จะสร้างผลที่งอกงามตามมาเอง

วางโครงสร้างธุรกิจ ด้วยความคิดอย่างผู้ใหญ่

เรียบเรียงบทความโดย
กองบรรณาธิการ 7D Book

Scroll to Top