ไม่รู้เรื่อง “ภาษี” มีแต่ขาดทุน

รู้จักภาษี 5 ประเภท ที่คนทำธุรกิจต้องเข้าใจ

หลายคนอาจจะเคยเจอคำพูดที่ว่า “สมัยนี้ใคร ๆ ก็มีธุรกิจเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว” ในมุมหนึ่งคงเป็นเรื่องดีที่ทำให้มีแรงผลักดันสร้างอะไรบางอย่าง แต่ในอีกมุมอาจเป็นความกดดันที่หนักหนาเกินกว่าใครหลายคนจะรับไหว เพราะธุรกิจไม่ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกคนก็คงมีธุรกิจเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว

ภาพถ่ายโดย Nataliya Vaitkevich

มีหนึ่งประเด็นที่อยากชวนมาแลกเปลี่ยนกัน คือ มีการตั้งคำถามว่าในโลกปัจจุบันนี้ว่า จริง ๆ แล้วการทำเพียงอาชีพเดียวนั้นเพียงพอแล้วจริงหรือ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ดูจะสวนทางกับรายได้ ทำให้เสียงถูกแบ่งเป็นหลายฝั่ง

ฝั่งที่มองว่าจริง ก็ให้เหตุผลว่าด้วยสถานะการเงินที่ค่อนข้างไม่สู้ดี ค่าครองชีพทั้งหลายก็สูงขึ้น การมีรายได้หลายทางก็น่าจะช่วยเข้ามาเยียวยาไม่ให้ความเป็นอยู่นั้นลำบาก

บางทีการมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเองก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินตรงนี้ได้บ้าง

ภาพถ่ายโดย Nataliya Vaitkevich

โดยธุรกิจในที่นี้ไม่ใช่การทำอะไรใหญ่โต อาจจะทำข้าวกล่อง แซนด์วิช หรือขนม ไปขายในที่ทำงานด้วย ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้ใช้ต้นทุนสูงมากแต่อาจจะต้องแลกมากด้วยความเหนื่อยสักหน่อย

ข้อดีคือเรามักเห็นหลายคนทำแบบนี้บ่อย คือนำของมาขายบ้าง หรือลงทุนต่าง ๆ เพื่อทำกำไรไปต่อยอดตามแนวทางที่ตัวเองถนัด เรียกว่า ยอมสละเวลาว่างในวันหยุดหรือตื่นเช้ากว่าเดิมบ้าง เพื่อหารายได้เสริมมาแบ่งเบาภาระ

แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ คือ เมื่องานเสริมที่ทำอยู่ผลตอบรับเริ่มดีขึ้น รายได้ก็เข้ามามากขึ้น ถึงขั้นบางคนรายได้เสริมตรงนี้มากกว่างานประจำด้วยก็มี


คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

แต่การทำธุรกิจไม่ใช่แค่คิดว่า จะขายอะไร แล้วคนจะซื้อหรือไม่ แต่ต้องมองไปถึงการตลาด การควบคุมคุณภาพ การพัฒนาสินค้า และการวางแผนจัดการทุกองค์ประกอบให้เป็นระบบระเบียบมากที่สุด เพราะสิ่งนี้จะบ่งบอกได้ถึงความยั่งยืนของธุรกิจ

คงต้องบอกว่าเมื่อทุกคนเห็นความเติบโตและก้าวหน้าธุรกิจ สิ่งแรกในหัวจะเป็นความฝันอันหอมหวาน มองบันไดความสำเร็จไปเรื่อย ๆ คิดแค่ว่าวัน ๆ จะทำเงินได้เท่าไร

จนหลายคนตกม้าตายกับสิ่งที่เรียกว่า “ภาษี” อยู่เสมอ

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska

อย่างที่ทุกคนรู้กันดีคือเมื่อมีรายได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือภาษี โดยอัตราก็ขึ้นอยู่กับรายได้แต่ละคน เพียงแต่ในหมวดหมู่นี้เองจะมีการแบ่งประเภทของภาษีไว้ 5 ข้อ ซึ่งได้แก่

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

แน่นอนว่ามีคำว่า “นิติบุคคล” แปลว่าภาษีประเภทนี้จะเก็บกับธุรกิจที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน

สังเกตได้เลยว่าทุกบริษัทที่เราพบเห็น พวกเขาต่างล้วนเสียภาษีทั้งนั้น แล้วหากคุณคือหนึ่งคนที่กำลังจะทำธุรกิจก็ต้องรู้จักกับ ภ.ง.ด. 50 และ 51 เอาไว้เพื่อที่จะต้องยื่นในทุกปีนั่นเอง


คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

ชื่อนี้น่าจะเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือการหักภาษีเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงรอบที่จะต้องยื่นถ้าภาษีที่คุณต้องเสียมากกว่าเกณฑ์ก็สามารถขอคืนภาษีได้เหมือนกัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่หลายคนมักลืมกันบ่อย ๆ

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

นี่คืออีกอย่างที่คุ้นเคย เพราะเมื่อเวลาไปทานอาหารหรือใช้บริการต่าง ๆ ก็มักเห็นว่ามีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นคือในมุมของผู้บริโภค

แต่ในมุมผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็ต้องเสียภาษีนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีข้อกำหนดที่ว่าต้องมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไปถึงจะเสียภาษีประเภทนี้ด้วย

4. ภาษีอากรเฉพาะ

ส่วนนี้จะเป็นการเรียกเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่ระบุไว้เท่านั้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องเสียในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

5. ภาษีอากรแสตมป์ 

จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ ซึ่งอาจไม่มากนักแต่ศึกษาเพิ่มเติมไว้ก็ไม่เสียหาย


คลิกที่รูปภาพเพื่อสั่งซื้อหนังสือ

จะเห็นว่าเรื่องธุรกิจกับเรื่องของภาษีนั้นไม่ได้ไกลตัวพวกเราเลย มิหนำซ้ำยังใกล้กว่าที่คิด เพียงแต่หลายคนไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีที่ว่านี้ด้วย หรือหลายคนยังคิดว่ายังไงก็คงไม่โดนตรวจสอบหรอก

ถ้าใครที่มีรายได้ถึงเกณฑ์แต่ยังไม่โดนอะไรแสดงว่าคุณอาจจะยังโชคดีในวันนี้ เพียงแต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าในวันต่อไปโชคจะยังเข้าข้างคุณอยู่หรือเปล่า ?

สำหรับในมุมของผู้ประกอบการที่จะเริ่มต้นธุรกิจ เข้าใจว่าลำพังองค์ประกอบของธุรกิจก็พาหัวหมุนไม่เว้นวันอยู่แล้ว แต่อย่าลืมที่จะศึกษาบัญชีภาษีควบคู่ไปด้วย เพราะรับรองได้ว่าผลประโยชน์ตรงนี้จะได้ใช้สักวันแน่นอน

นอกจากนี้ การนำทุกความรู้ที่มีมาใช้ในปัจจุบัน จะสร้างความได้เปรียบในชนิดที่อาจไม่คิดมาก่อนเลยก็เป็นได้…

ข้อมูลโดย : คุณอ้อ กนิษฐา อติชาติธานินทร์

เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ 7D Book

Scroll to Top