10 วิธีการหาหัวข้อการวิจัย และเทคนิคการใช้ AI

10 วิธีการหาหัวข้อการวิจัย และเทคนิคการใช้ AI

10 วิธีการหาหัวข้อการวิจัย และเทคนิคการใช้ AI การหาหัวข้อการวิจัยเป็นขั้นตอนแรกของการวิจัย เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของทั้งนักวิจัยมือใหม่และมืออาชีพ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามักจะได้รับคำถามนี้อยู่เสมอ บางคนคิดหัวข้อไม่ออกจนเสียเวลาไปเป็นปี บางคนก็เปลี่ยนหัวข้อไปมาจนไม่ได้เริ่มงานวิจัยอย่างจริงจังเสียที ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับมืออาชีพเช่นเดียวกัน แม้อาจจะไม่มากเท่ามือใหม่แต่ก็สร้างความยากลำบากในการหาหัวข้อใหม่ได้เช่นกัน เพื่อช่วยตอบคำถามเรื่องนี้ ต่อไปนี้คือ 10 วิธีในการหาหัวข้อวิจัยที่ได้ผล

1. สํารวจปัญหาหรือสถานการณ์ในปัจจุบัน

เป็นวิธีง่าย ๆ ในการหาหัวข้อวิจัย โดยสังเกตสภาพปัญหาหรือความต้องการในสังคม ธุรกิจ ชุมชน หรือองค์กรที่ต้องการคําตอบ จากนั้นนํามากำหนดเป็นหัวข้อและคําถามวิจัย ซึ่งจะช่วยให้ได้หัวข้อที่มีความเป็นไปได้และสามารถนําไปแก้ปัญหาได้จริง มีความเป็นไปได้สูงในการตอบโจทย์สังคม ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยมีคุณค่าและประโยชน์ ข้อดีคือได้หัวข้อที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการ ส่วนข้อจํากัดคืออาจได้ประเด็นที่กว้างเกินไปยากต่อการกำหนดขอบเขตและรูปแบบวิธีวิจัยหากไม่เชี่ยวชาญมากพอ

2. อ่านงานวิจัยเก่าในสาขาที่สนใจ

เป็นการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจ เพื่อดูช่องว่างงานวิจัยที่ยังไม่มีใครศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ได้แนวทางในการกำหนดหัวข้อใหม่ที่จะเติมเต็มความรู้เดิม ขยายความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น วิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก ข้อดีคือได้แนวทางจากงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว เติมเต็มความรู้เดิม แต่ข้อจํากัดคืออาจจะยึดติดกับงานเก่า ได้หัวข้อหรือตัวแปรซ้ำ ๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

3. ถามความคิดเห็นจากอาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ

เป็นการแสวงหาความรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยตรง เพื่อให้ได้มุมมองใหม่ ๆ หรือแนวทางการวิจัยที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการหาหัวข้อและขอบเขตการวิจัยได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ข้อดีคือได้ความคิดเห็นจากประสบการณ์ตรง มองหลายมุมมอง ส่วนข้อจํากัดคืออาจารย์อาจมีมุมมองจํากัดบางด้าน หรืออาจแนะนำไปเฉพาะในด้านที่เขาสนใจ

4. ดูหัวข้อวิจัยจากตัวอย่างของสถาบันอื่น ๆ

เป็นการศึกษาตัวอย่างหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจจากสถาบันการศึกษาชั้นนําต่าง ๆ เพื่อให้เห็นแนวทางและขอบเขตในการกำหนดหัวข้อวิจัยที่เหมาะสมในแต่ละสาขา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและขยายมุมมองในการหาหัวข้อได้อย่างหลากหลาย ข้อดีคือได้แนวทางในการกำหนดหัวข้อที่หลากหลาย น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นหัวข้อที่มีผู้สนใจ ส่วนข้อจํากัดคืออาจไม่ตรงกับบริบทหรือความเชี่ยวชาญ และเป็นการไล่ตามแนวทางของผู้อื่น

5. สํารวจความต้องการขององค์กรที่สนับสนุนทุนวิจัย

หากมีความจำเป็นต้องพึ่งพาทุนการวิจัยก็ต้องศึกษาความต้องการของแหล่งทุนนั้น เป็นการศึกษาทิศทางและความต้องการสนับสนุนงานวิจัยขององค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ได้หัวข้อที่มีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนในการทำวิจัย ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยมีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุนอย่างเพียงพอ ข้อดีคือมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย และแน่นอนว่าข้อจํากัดคืออาจถูกจํากัดหัวข้อให้ต้องตรงกับความต้องการของแหล่งทุน

6. ปรึกษาหัวข้อกับเพื่อน รุ่นพี่ หรือกลุ่มวิจัย

เป็นการระดมสมองเพื่อหาแง่มุมหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการกำหนดหัวข้อวิจัยจากบุคคลรอบข้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกและมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหัวข้อ ซึ่งข้อดีคือได้หลายมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ส่วนข้อจํากัด อาจได้คำแนะนําที่ค่อนข้างกว้าง ยากต่อการตัดสินใจเลือก และที่สำคัญคือต้องมั่นใจว่ากลุ่มคนที่เราปรึกษาด้วยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นพอสมควร

7. เลือกหัวข้อที่ตรงกับความรู้ ความสนใจ ความถนัดของตัวเอง

เป็นการเลือกหัวข้อที่มีความสอดคล้องกับตัวบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นใจและสนใจในการศึกษาค้นคว้ามากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานวิจัยได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ข้อดีคือผู้วิจัยมีความมั่นใจและสนใจในหัวข้อ เอื้อต่อการทำวิจัย ส่วนข้อจํากัดคืออาจมองแคบเพียงมุมมองเดียว ขาดการขยายความรู้ใหม่

8. โอกาสในการเผยแพร่ผลงาน

หากมีเป้าหมายในการตีพิมพ์ในวารสารใดเป็นการเฉพาะหรือเพื่อนำเสนอในงานประชุมวิชาการที่มีธีมเป็นของตนเองแล้ว ควรพิจารณาหัวข้อวิจัยที่มีโอกาสนําไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรืองานประชุมต่าง ๆ เพื่อให้งานวิจัยมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าและการยอมรับในผลงานวิจัยมากขึ้น ข้อดีคือได้งานวิจัยที่มีโอกาสได้รับการตอบรับเพื่อเผยแพร่ ส่วนข้อจํากัด คืออาจทำให้มองข้ามหัวข้อที่น่าสนใจอื่น ๆ ไปด้วยได้เช่นกัน

9. หาหัวข้อที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

เป็นการพิจารณาหัวข้อที่สามารถทำวิจัยได้จริงตามขอบเขต ระยะเวลา และทรัพยากรที่มี เพื่อให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เช่น งานวิจัยที่ถูกจำกัดด้วยเวลาที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 1-3 เดือน  งานวิจัยที่ใช้เงินทุนน้อย หรืองานวิจัยเก็บข้อมูลได้จำกัด ข้อดีคือวิจัยได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัดระหว่างทำเพราะได้จำกัดขอบเขตให้เหมาะสมไว้แล้ว ส่วนข้อจํากัดคืออาจมองข้ามหัวข้อที่ท้าทาย และได้ผลการศึกษาที่มีเงื่อนไขมากไม่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้มากนัก

10. การหาหัวข้องานวิจัยจาก “ข้อเสนองานวิจัยในอนาคต”

ช่องทางหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นทางการที่อยากเสนอแนะในการหาหัวข้อการวิจัยคือการเข้าไปดูหัวข้อที่ชื่อว่า ข้อเสนองานวิจัยในอนาคต หรือในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า Future research, Future work หรือ Research Suggestion หัวข้อดังกล่าวมักอยู่ในส่วนสุดท้ายหรือหัวข้อสุดท้ายของงานวิจัย ความน่าสนใจของหัวข้อนี้คือ เมื่อนักวิจัยทำงานวิจัยในเรื่องต่าง ๆ เสร็จ เขามักกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากได้ศึกษาสภาพปัญหา ทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้งอภิปรายผล ข้อจำกัดของการวิจัย โดยพบเจอแง่มุมต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับงานวิจัยในอนาคตที่งานวิจัยชิ้นต่าง ๆ ได้เสนอแนะไว้จึงเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยอื่น ๆ ด้วย จึงเป็นเบาะแสสำคัญประการหนึ่งในการหาหัวข้อการวิจัย

เราจะมาลองใช้ AI ที่ใช้ในการหาหัวข้อการวิจัยด้วยวิธีนี้ โดยจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงงานวิจัยหรือบทความวิชาการ และสามารถอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง และสามารถช่วยอ่านและวิเคราะห์ออกมาได้อย่างถูกต้อง อาทิ SciSpace หรือ AI อื่น ๆ ที่สามารถจำกัดข้อมูลโดยการ attach file ลงไป เช่น Claude.ai ChatDoc หรือ ChatPDF

เช่น เราสามารถใช้ Copilot ซึ่งเป็นตัวขยายใน SciSpace ให้ช่วยนำเสนองานวิจัยในอนาคตได้ โดยคลิกที่ Future works หรือคำถามอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง เราก็จะได้ข้อแนะนำในการทำงานวิจัยในอนาต ตัวอย่างตามภาพ ผู้วิจัยใส่บทความวิชาการเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภาวะผู้นำลงไป Copilot จะช่วยวิ่งไปหาส่วนที่เป็นงานวิจัยในอานาคตให้ได้อย่างรวดเร็ว สามารถให้แปลเป็นภาษาไทยได้ด้วย

กรณี ChatDoc เราสามารถใส่บทความวิจัยไปได้ถึงครั้งละ 30 บทความ แล้วให้ AI ช่วย Generate หาหัวข้อที่น่าสนใจที่สุดมีอะไรบ้าง ยังมี AI ที่น่าสนใจอีกจำนวนมากที่จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ เราสามารถเอาข้อแนะนำจากงานต่าง ๆ มาเปรียบเทียบหรือให้ AI ตัวอื่นช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานวิจัยในอนาคตมีความสะดวกรวดเร็วอย่างมาก ตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการหาข้อหัวการวิจัยกันเลยทีเดียว

หวังว่า 10 วิธีนี้จะช่วยให้ท่านหาหัวข้อการวิจัยได้ง่าย สะดวก ตรงใจมากที่สุด เพื่อจะได้นับหนึ่งการเริ่มต้นการวิจัยอย่างมีคุณค่าและสนุกกับงานวิจัย

บทความโดย
ดร.ปุด สุขยืน เทพทอง

Scroll to Top