ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องรู้ก่อนขอสินเชื่อธนาคาร

จะรับมือยังไงเมื่อขอสินเชื่อทั้งทีแต่สิ่งที่ได้มาไม่ได้มีแค่เงินก้อน

คงเป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกู้เงินหนึ่งครั้งไม่ว่าจะผ่านสถาบันการเงินหรือบุคคล ก็ใช่ว่าจะได้มาเพียงแค่จำนวนเงินก้อนใหญ่ที่ตนเองต้องการ แต่ในขะเดียวกันก็ยังพ่วงมาด้วยบางสิ่งบางอย่างที่มากพอ ๆ กัน บ้างก็เป็นจำนวนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ แต่ในบางครั้งก็มีมูลค่าสูงเทียบเท่ากับเงินต้นที่กู้ยืมมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่ง ๆ นี้เราต่างก็เรียกมันว่า “ดอกเบี้ย”

หลายต่อหลายครั้งผู้ขอสินเชื่อก็ต้องพบในภายหลังว่าดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ตัวเองได้มานั้นแทบจะเรียกได้ว่าสูงพอ ๆ กับเงินต้น โดยเฉพาะกับคนที่ต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาเพื่อการลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ ในช่วงแรก ๆ คงจะเห็นว่าดอกเบี้ยเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์จะเป็นเงินสักแค่ไหนกัน แต่ทว่าตัวเลขเล็ก ๆ เหล่านี้เมื่อทบต้นทบดอกเป็นระยะเวลารวมกันหลาย ๆ ปีก็เป็นต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ผู้กู้เพิ่งจะได้มาฉุกคิดทีหลังว่า…ดอกเบี้ยสูงขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย!

แล้วดอกเบี้ยดีดขึ้นไปเป็นหลักล้านได้ยังไง?

สถาบันการเงินก็คือหนึ่งในธุรกิจที่มีจุดเด่นในด้านการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับทั้งผู้ประกอบการและบุคคลทั่ว ๆ ไปจนกลายเป็นทั้งจุดเริ่มต้นให้กับใครอีกหลายคนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินที่จะต่อยอดธุรกิจ และเป็นจุดสิ้นสุดของธุรกิจอีกหลายต่อหลายองค์กรเช่นกัน

loan real eastate

ว่ากันว่าดอกเบี้ยก็คือรายได้หลักของธนาคาร จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าธนาคารพยายามที่จะปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการปรับขึ้นลง หรือแม้แต่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็ยังต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของแบงก์ชาติ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย ดังนั้นการที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกค้าสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสูง ๆ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และที่มากไปกว่านั้นก็ยังรวมไปถึงประเภทของดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย

loan real eastate

เคยได้ยินคำว่า “ดอกเบี้ยคงที่” กับ “ดอกเบี้ยลอยตัว” ไหม?

คนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการขอสินเชื่อมาก่อนคงจะคุ้นเคยกับสองคำนี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่กำลังวางแผนที่จะขอสินเชื่อกับธนาคารและยังไม่รู้ว่าคืออะไรคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ ๆ เพราะดอกเบี้ยสองประเภทนี้เองที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาระในการชำระหนี้สินของลูกค้าสินเชื่อมีมูลค่าสูงขึ้น

loan real eastate

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate)

ถ้าพูดถึงอัตราดอกเบี้ยคงที่ก็สามารถเดาได้ในทันทีว่าจะต้องเป็นดอกเบี้ยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรืออยู่ในอัตราเท่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้จะถูกกำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่มีการขยับขึ้นหรือลดลง โดยจะคงที่ตลอดสัญญาอายุเงินกู้หรือในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้

ยกตัวอย่างเช่น หากนาย B ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน A มาก้อนหนึ่งโดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 3% ต่อปี โดยมีระยะเวลาในการผ่อนทั้งหมด 10 ปี ก็หมายความว่านาย A จะต้องผ่อนดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% ตลอดระยะเวลา 10 ปี นั่นเอง

loan real eastate

อัตราเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate)

ในทางตรงกันข้ามเมื่อพูดถึงดอกเบี้ยแบบลอยตัวก็รับรู้ได้ในทันทีว่าดอกเบี้ยประเภทนี้จะต้องมีความผันผวนและไม่แน่นอนโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการลงทุนของสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ ซึ่งผู้ให้กู้จะประกาศออกมาเป็นระยะ โดยดอกเบี้ยแบบ MLR และ MRR จะถูกจัดอยู่ในประเภทอัตราเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) เช่นกัน แต่มีความแตกต่าง คือ…

- MLR (Minimum Loan Rate)

 เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่มีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ โดยมักจะใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่กำหนดระยะเวลาแน่นอน อย่างสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

ตัวอย่าง: ธนาคาร A ออกสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจในวงเงินกู้ 5,000,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย MLR -2.79% ต่อปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอด 3 ปี ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ย MLR

- MRR (Minimum Retail Rate)

เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ไม่มีประวัติเสียทางด้านการเงิน ยกตัวอย่างเช่น การให้สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

ตัวอย่าง: ธนาคาร B ออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินกู้ 5,000,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยบ้านแบบคงที่ MLR -2.79% ตั้งแต่ปีที่ 1-3 หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในเรท MRR -1.25% ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านที่ต้องจ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ย MRR

วิธีคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน

นาย A ต้องการขอสินเชื่อบ้านในวงเงินกู้ 3,000,000 บาท / MRR 7% โดยทางสถาบันการเงินได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า

ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.15% ต่อปี ดังนั้นนาย A จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 94,500 ต่อปี (ใน 3 ปีแรก)

เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 4 เปลี่ยนมาเป็นดอกเบี้ย MRR-1.25%

ดังนั้นในปีที่ 4 นาย A จะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR 7% -1.25% = 5.75%

ซึ่ง 5.75% ของ 3,000,000 บาท จะเสียดอกเบี้ยในอัตรา 172,500 บาทต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของปีที่ 4 เป็นต้นไป

ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับใครหลาย ๆ คนคงไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเงินต้นที่พวกเขาได้รับมานั้นไม่ใช่เงินก้อนเล็ก ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าทำไมจะต้องพิจารณารายได้ค่าตอบแทนอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจทุ่มเงินเป็นก้อนสำหรับการลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แน่ล่ะว่าไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินที่จะกลับเข้าสู่กระเป๋า แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาผ่อนกับสถาบันการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่รายได้หยุดชะงัก ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ดอกเบี้ยเงินกู้หยุดชะงักตามหรือมีอัตราที่ลดลงได้เลยแม้แต่วันเดียว เหมือนกับคำพูดที่ผ่านมาให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้เดินอยู่ทุกวัน”

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top