รู้หรือเปล่าว่าแบบขออนุญาตก่อสร้างกับแบบที่ใช้ในงานก่อสร้างจริงเป็นคนละแบบกัน

ว่ากันว่าหนึ่งในสาเหตุของความผิดพลาดมักจะมีต้นสายปลายเหตุมาจากความซับซ้อนจนทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและอะไรคือสิ่งที่ผิด ยิ่งกับงานที่มีความละเอียดสูงและมีหลายขั้นหลายตอนยิ่งพบว่ามีปัญหาจุกจิบยิบย่อยอีกมากมายที่เคยมองข้าม แถมบางอย่างก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเป็นวิธีการที่ผิดมาตั้งแต่ต้น

สำหรับงานด้านการออกแบบและการก่อสร้างเองก็เช่นกัน

วินาทีที่รู้ว่าแบบขออนุญาตก่อสร้างและแบบก่อสร้างจริงเป็นคนละแบบกันคงมีใครสักคนกำลังยืนงงเป็นไก่ตาแตกอยู่แน่ ๆ และคงวิ่งกลับไปหยิบแบบของตัวเองมาดูพร้อมกับตั้งคำถามว่า เอ๊ะ… แล้วแบบที่ถืออยู่ในตอนนี้เป็นแบบสำหรับอะไรกันแน่ แล้วถ้านำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์จะมีผลอะไรตามมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนล่ะว่าหนึ่งในความรู้สึกที่จะตามมาหลังจากนั้นก็คือความกังวล
 
บ้านที่สร้างอยู่จะได้คุณภาพหรือเปล่า
สร้างไปแล้วจะมีปัญหากับผู้ว่าจ้างทีหลังไหม

แน่นอนว่าหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องกุมขมับก็คือผู้รับเหมาเพราะเป็นคนที่ต้องถือแบบนั้นมาใช้กับงานก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยตรง แถมยังต้องประสานงานกับผู้ว่าจ้างอีก แต่เชื่อว่าลึก ๆ แล้วก็คงไม่มีใครอยากเจอสถานการณ์แบบนี้หรอกจริงไหม ดังนั้นก่อนที่จะกลายมาเป็นความผิดพลาดให้ตามแก้ปัญหากันทีหลัง ก่อนอื่นมาลองหาจุดแตกต่างกันดูสิว่าแบบประเภทไหนที่ใช้สำหรับการขออนุญาตก่อสร้าง และแบบไหนที่ใช้สำหรับหน้างานจริงกันแน่

แบบขออนุญาตก่อสร้างคืออะไร?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างแต่ละครั้งก็ต้องมีการยื่นขออนุญาตทำการก่อสร้างต่อเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งหนึ่งในเอกสารที่ต้องยื่นประกอบคำร้องที่ขาดไม่ได้เลยก็คือแบบบ้านที่จะสร้างโดยมีการรับรองจากผู้ออกแบบครบถ้วน ซึ่งรายละเอียดที่จะต้องมีประกอบในแบบขออนุญาตก่อสร้างประเภทนี้ก็ได้แก่…
 
· แผนที่โดยสังเขป
· ผังบริเวณ 1:500
· แปลนพื้นทุกชั้น 1:100
· รูปด้าน 2 รูป 1:100 (ปกติมี 4 รูป)
· รูปตัดตามยาว , รูปตัดตามขวาง 1:100 (ถ้างานละเอียดจะใช้ก่อสร้างมากกว่า 2 รูปตัด ) บางที่เรียกขอ 1:50
· ผังโครงสร้าง คานคอดิน ฐานราก 1:100
· โครงหลังคา 1:100
· ขยายโครงสร้างเสา ฐานราก คาน 1:20
· ขยายบ่อเกรอะ บ่อซึม 1:20
· แสดงทางระบายน้ำพร้อมบ่อพัก 1:200
 
ดังนั้นเมื่อเป็นแบบก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ภายใต้วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบว่ารายละเอียดภายในแบบแปลนนั้นจะมีบางส่วนที่ขาดหายหรือไม่ครบถ้วนอยู่บ้าง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่โครงสร้างหลัก ๆ ที่จะทำการก่อสร้างมากกว่านั่นเอง
ส่วนอีกแบบอีกประเภทที่ใช้สำหรับก่อสร้างจริงก็คือ…

แบบก่อสร้าง

โดยทั่วไปแล้วแบบก่อสร้างที่ว่านี้จะมีความคล้ายหรือมีความแตกต่างจากแบบขออนุญาตอยู่เพียงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งจะมีแบบขยายต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากโครงสร้างในแบบขออนุญาต ยกตัวอย่างเช่น แบบขยายห้องน้ำ แบบขยายประตู หน้าต่าง แบบขยายฝ้าเพดาน แบบขยายรั้ว แบบขยายระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ จนเรียกได้ว่าขยายทุกส่วนของบ้านเลยก็ว่าได้
 
มาถึงตรงนี้คงจะเกิดความสงสัยขึ้นมานิดหน่อยว่าหากใช้แบบสำหรับการขออนุญาตมาใช้ในการก่อสร้างจริงจะมีปัญหาตามมาหรือเปล่า อย่างเช่นความแข็งแรงของโครงสร้าง หรือเรื่องของราคาที่ผู้รับเหมาจะนำมาเสนอกับผู้ว่าจ้างจะมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องบอกไว้ก่อนว่าการทำบ้านยิ่งมีความละเอียดมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นผลดีกับเจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการที่เป็นผู้ว่าจ้างมากเท่านั้น
 
นอกจากนี้ในส่วนของความละเอียดของแบบก่อสร้างนั้นยังช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถถอดราคาที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ได้มากขึ้นไปอีก แน่นอนว่าราคาอาจจะสูงขึ้น แต่ก็มีความแม่นยำมากขึ้นโดยที่แทบจะไม่ต้องอาศัยการคาดคะเนเอาเองว่าส่วนโครงสร้างนี้จะใช้ต้นทุนในการก่อสร้างเท่าไหร่ หรือต้องบวกลบส่วนที่ขาดเกินไว้เท่าไหร่ เพราะหากเป็นแบบนั้นไม่แน่ว่าอาจจะต้องเสียเงินเพิ่มมากกว่าที่คิดก็ได้
 
 

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top