ความสำคัญของเจ้าของโครงการกับงานรับเหมาก่อสร้าง

ผู้รับเหมา

บางงานเจ้าของโครงการแทบจะไม่โผล่มาให้เห็น แต่บางงานเจ้าของโครงการมาคุมตั้งแต่ต้นจนจบ

การทำงานอาจจะเจอกับสถานการณ์ที่มาพร้อมกับตัวแปรที่ชวนให้กดดันอยู่บ่อย ๆ จนแทบจะไม่มีกระจิตกระใจหรือมีสมาธิที่จะทำงานเลยด้วยซ้ำ บางครั้งก็ถูกกดดันด้วยเวลา บางครั้งก็ถูกกดดันด้วยเงื่อนไขของการจ้างงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีใครบอกไปหรือยังว่ายังมีอีกหนึ่งความกดดันสำหรับผู้รับเหมาที่ต้องเผชิญหน้าอยู่บ่อย ๆ ก็คือ…เจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการ

สำหรับบางโครงการเจ้าของก็แทบจะไม่ได้แวะเวียนเข้ามาในพื้นที่ของการก่อสร้างเลยด้วยซ้ำ แต่อาจจะมีตัวแทนที่เข้ามาตรวจงานเป็นช่วง ๆ ตามแผนและงวดงาน หรือรอให้ผู้รับเหมาดำเนินงานจนแล้วเสร็จค่อยมาตรวจรับพื้นที่ก่อสร้างคืนในคราวเดียว แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีผู้ว่าจ้างอีกหลายต่อหลายคนที่ต้องการติดตามความคืบหน้าของงานอยู่เสมอจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้ามาในพื้นที่ที่กำลังทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมอยู่บ่อย ๆ จนในบางครั้งก็กลายเป็นการสร้างความกดดันให้กับคนทำงานได้เช่นกัน

อ้าว…แล้วสรุปการมีเจ้าของโครงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่

บางครั้งอาจจะเป็นเพียงความรู้สึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ถ้าถามว่ามีผลกระทบกับงานไหมก็คงตอบได้เลยว่าเป็นเพียงส่วนน้อย และไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือแย่แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดงานหรือโครงการขึ้นมา รวมถึงการเป็นผู้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ออกแบบและผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงหน้าที่หลักอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างโดยตรง ดังนี้

กำหนดของเขตงานก่อสร้างและต้นทุนโดยรวม

แม้ว่าการดำเนินงานเกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งหมดจะอยู่ในมือของผู้รับเหมาเมื่อได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงจุด ๆ นั้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างที่จะต้องรับผิดชอบในการระบุรายละเอียดและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้แก่โครงการ เช่น การจัดทำสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาว่าจะมีการเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในช่วงระยะเวลาประมาณกี่เดือนหรือกี่ปี และการรับกำหนดงวดงานรวมถึงการจ่ายค่างวดต่าง ๆ สำหรับการก่อสร้างในแต่ละส่วน สำหรับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หากเป็นเจ้าของบ้านที่มีรายละเอียดงานก่อสร้างที่ไม่มากนักก็จะมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเบิกซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้รับเหมาในแต่ละครั้ง แต่หากเป็นโครงการใหญ่ ๆ เจ้าของโครงการจะมีหน้าที่ในการจ่ายเงินค่างวดตามเนื้องานที่แล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องออกสำหรับการซื้อวัสดุอุปกรณ์อาจจะต้องมาจากผู้รับเหมาก่อนนั่นเอง

กำหนดว่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการในระดับใด

ถึงแม้ว่าบางครั้งการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างในระหว่างที่ผู้รับเหมากำลังทำงานอยู่นั้นอาจจะเป็นการสร้างความกดดันระหว่างการทำงานอยู่นิดหน่อย แต่ทว่าเรื่องนี้ก็สามารถตกลงกันได้ว่าเจ้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างจะมีขอบเขตในหน้าที่ของตัวเองมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการตรวจทาน (Review Process) รายละเอียดของรายงานที่ต้องการ (Required Reports) และงานที่จะต้องอนุมัติ (Levels of Approval) รวมถึงการระบุว่าจะเข้ามาข้องเกี่ยวกับเนื้องานในส่วนใดบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการก่อสร้าง ในส่วนนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่หากว่าผ่านการดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง อาจจะด้วยรูปแบบที่ไม่ถูกใจหรืออะไรก็ตามแต่ หากต้องรื้อใหม่อาจเป็นการเพิ่มทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาที่จะกลายมาเป้นงานยากของผู้รับเหมาในภายหลัง ดังนั้นจึงควรจึงควรมีการกำหนดของเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายให้ละเอียดตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตามสำหรับงานก่อสร้างที่เป็นโครงการใหญ่ ๆ เจ้าของโครงการอาจจะมอบหมายให้ตัวแทนที่ปรึกษาโครงการมาเป็นคนที่ตรวจสอบหรือรับหน้าที่เหล่านั้นแทนโดยที่เจ้าของโครงการแทบจะไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวกับงานก่อสร้างเลยด้วยซ้ำ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางโครงการแทบจะไม่เห็นเจ้าของโครงการเข้ามาในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเลย แต่ไม่ว่าเจ้าของโครงการจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือผ่านเข้ามาให้เห็นบ่อยแค่ไหน หากมีการจัดระเบียนงานได้เป็นอย่างดีก็แทบจะไม่ต้องกังวลว่าจะปัจจัยเหล่านี้จะกลายมาเป็นปัญหาที่กระทบกับเนื้องาน

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top