เรื่องภาษี สิ่งที่ไม่มีในตำราแต่โคตรสำคัญ

อะไรบ้าง ที่สำคัญต่อชีวิตเรา แต่เป็นตัวเราเองที่กลับไม่ให้ความสำคัญกับมันจนกลายเป็นปัญหาในที่สุด? หากให้พูดเรื่องปัญหานั้นเป็นวงกว้าง ก็คงจะเป็นปัญหาทางด้านการเงิน ที่ไม่ใช่แค่เราที่ต้องตกเป็นผู้เสียประโยชน์ สถิติต่าง ๆ แสดงให้เห็น ว่าคนไทยมีเงินออมน้อย ไม่ค่อยลงทุน ทำให้ปัญหาทางการเงินนั้นกระจายเป็นวงกว้าง พูดง่าย ๆ คือหลายคนต้องประสบกับปัญหาทางการเงินในแบบเดียวกัน

สถิติจากคุณกัมพล  จันทวิบูลย์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจ บอกว่า คนไทยที่มีจำนวนประชากรราว 70 ล้านคน ลงทุนในกองทุนอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียงที่มีคนลงทุนเยอะกว่า หรือถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสิงคโปร์ที่มีเปอร์เซ็นต์การลงทุนกว่า 50% ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีเพียง 5-6% เท่านั้น สาเหตุมาจากความรู้ความเข้าใจในด้านการเงิน การลงทุน และต้นทุนการให้บริการที่สูงเลยเข้าถึงได้น้อย และการขาดความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนที่ดี สิ่งที่ตามมาคือการมีเงินเก็บน้อย ใช้เงินแบบเดือนทบเดือน ปัญหานี้เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน สังเกตได้จากโพสต์หลาย ๆ โพสต์บนโลกโซเชียล ที่คนบ่นถึงการเงินที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น meme หรือเป็นเรื่องจริงจัง แต่ปัญหาทางด้านการเงินมันไม่ได้หยุดอยู่ที่การเงินและการลงทุนอย่างเดียว เรื่องเกี่ยวกับ “ภาษี” ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนต้องปวดหัวเช่นกัน

TaxBugnoms

ทำไมเราต้องเสียภาษี? ภาษีจะเหมือนกับค่าส่วนกลางในสเกลใหญ่ ที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อบริการสาธารณะที่ใช้ได้ร่วมกันและสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งการเสียภาษีนั้นจะมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ ค่าใช้จ่ายหรือมีจำนวนทรัพย์สินที่มีมากน้อยแตกต่างกันไป และเงินภาษี ก็เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้คล่องตัวยิ่งขึ้น หรือการเก็บภาษีสำหรับธุรกิจที่ต้องการส่งเสริมให้น้อยลงเพื่อให้คนอยากลงทุนมากขึ้น หรือการเพิ่มภาษีในสิ่งที่ไม่อยากให้คนซื้อ เช่นสิ่งที่ทำให้เสียสุขภาพ

ด้วยเหตุผลของการเสียภาษีที่ว่ามานั้น ดูเป็นสิ่งสำคัญต่อคนส่วนรวมและต่อตัวเราเอง แต่ทำไม หลายคนก็ยังไม่มีความรู้ในเรื่องของการเสียภาษี? จริง ๆ แล้วมันก็อาจมาจากหลากหลายปัจจัย อาจเป็นเพราะการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนเรื่องเกี่ยวกับภาษี อาจเป็นเพราะว่าเราไม่รู้ว่าตัวเองต้องเสียภาษีเมื่อไหร่ เสียยังไง อาจเป็นเพราะภาษีคือเรื่องตัวเลขที่น่าปวดหัวเกินกว่าจะเรียนรู้ หรือบางคนก็ไม่ได้คิดที่จะเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ว่ามานั้นคือความบกพร่องทางหนึ่ง ที่ทำให้หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสียภาษี มันจึงกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจยากหรือไม่อยากเข้าใจ แต่ความบกพร่องที่ว่านั้น ก็สามารถแก้ไขได้ ผู้เขียนได้ไปเจอเพจหนึ่งที่ชื่อว่า “TaxBugnoms” ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าภาษีนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว คุณหนอม เลยทำให้เรื่องภาษีเป็น skinship สำหรับทุกคน

จุดเริ่มต้นของภาษีสไตล์ข้างถนน

คุณหนอม ถนอม เกตุเอม เติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานเกี่ยวกับด้านบัญชี ในตอนแรก คุณหนอมอยากเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรม แต่ก็ได้มาเรียนในสายบัญชีเหมือนคุณแม่ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อคุณหนอมเรียนจบ ด้วยความที่อยากหาประสบการณ์จากนอกบ้านก่อนมาทำงานที่บ้าน คุณหนอมได้เข้าทำงานบริษัทตรวจสอบบัญชี BIG4 เงินเดือนเริ่มต้นก็ไม่ได้มากมาย จนทำงานที่นี่ได้ 4 ปีและได้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชี คุณหนอมคิดว่าประสบการณ์นอกบ้านที่ได้มานั้นสูงพอแล้ว จึงลาออกมาแล้วกลับมาทำกับที่บ้านแล้วเรียนต่อปริญญาโทควบไปด้วย แต่ช่วงนั้นก็ได้มีการเปิดสอบ ก.พ. คุณแม่เห็น จึงให้คุณหนอมไปสอบบวกกับความที่คุณหนอมอายุยังน้อย ทำงานที่อื่นก่อนก็ได้ และคุณหนอมก็สอบผ่าน ต่อด้วยการสอบกับกรมสรรพากรตามที่คุณแม่แนะนำ ด้วยความสามารถที่เขามีก็สอบผ่านอีกเช่นเคยจนได้เข้ารับราชการที่กรมสรรพากรในที่สุด

จากงานเอกชนที่เงินเดือน 3 หมื่น สู่การเป็นข้าราชการตรวจสอบบัญชีเงินเดือน 8 พัน ทำให้คุณหนอมคิดว่า การประหยัดเงินอย่างเดียวมันไม่พอ เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก คุณหนอมก็เริ่มต้นที่จะหาเงินเสริม เริ่มเรียนรู้การทำเว็บไซต์ ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง จนได้ทำบล็อกเกี่ยวกับภาษีที่ชื่อว่า Taxbugnoms

สนใจหนังสือ คลิก

TaxBugnoms แหล่งรวมความรู้ภาษีที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้

เมื่อได้มาทำเพจคอนเทนต์เกี่ยวกับภาษี ในช่วงแรก ๆ คุณหนอมก็ทำเพจไปด้วย วันหยุดก็ได้รับงานบรรยายด้วย บวกกับงานราชการที่ตัวเองทำอยู่ ต้องลางานบ้าง เลิกเร็วบ้าง จนวันหนึ่ง คุณหนอมก็ได้มีลูก เวลาชีวิตเดิมที่น้อย ๆ จะทำให้คุณหนอมไม่ค่อยได้เจอลูก เลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นราชการ พอออกมา จากงานนอกกลายเป็นงานหลัก ทำงานหนักบวกกับลงคอนเทนต์ในเพจบ่อยจนไม่มีเวลาให้ลูก แต่พอคุณหนอมเริ่มจับจุด จับตารางเวลาได้ โควิดก็ได้เข้ามาทำลายรูทีนของคุณหนอม จนต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างจาก Onsite เป็น Online แทน

แต่มันก็เป็นข้อดีที่ทำให้คุณหนอมได้มาโฟกัสกับเพจมากขึ้น ทำได้ระยะหนึ่งก็เริ่มเก่งขึ้น เริ่มจับทางได้ จับกระแสได้และเห็นแนวทางในการทำคอนเทนต์ของตัวเองชัดขึ้น และเปรียบเหมือนปรัชญาการทำคอนเทนต์ของคุณหนอม เมื่อการทำคอนเทนต์นั้นทำให้เราเก่งขึ้น ก็ต้องทำให้คนอื่นสามารถเข้าใจมันได้ง่ายเหมือนกับที่คุณหนอมเข้าใจ จากภาษาแบบภาษีที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาในการประมวลผล ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ภาษาที่กันเองมากขึ้น ที่ใครอ่านก็เข้าใจ เนื้อหาต้องผ่านการคัดกรองเฉพาะเรื่องที่คนควรรู้และเป็นประโยชน์ รวมไปถึงการทำคอนเทนต์ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งรูปแบบ Quote, Reels, YouTube, บทความสั้น บทความยาว ,และคอนเทนต์ Advertorial ที่ทุกรูปแบบนั้น ทั้งเกี่ยวกับภาษีและการเงิน ความหลากหลายของรูปแบบคอนเทนต์ บวกกับความตั้งใจที่จะสื่อเนื้อหา เรียบเรียงและแปลงมันออกมาในรูปแบบของความเป็นกันเอง เหมือนกับการบอกต่อความรู้เกี่ยวกับภาษีให้เข้าใจง่าย ๆ เหมือนกับปรัชญาในการทำคอนเทนต์ของคุณหนอม เพจและเว็บไซต์ก็ยึดถือเอาไว้ ว่า “ภาษี ควรเป็นเรื่องเรียบง่าย และรู้สึกสบายที่จะจ่าย“ ความเรียบง่ายที่ว่าคือการเข้าถึงความรู้อย่างเข้าใจและถูกต้องง่าย ๆ และความรู้สึกสบายใจ ก็คือการจ่ายภาษีด้วยชุดข้อมูลที่ถูกต้อง การวางแผนภาษีที่ดี และมีความสุขกับการจ่ายภาษี และปรัชญาการทำคอนเทนต์ของคุณหนอมนั้น ก็ทำให้มีผู้ติดตามเพจถึง 6.1 แสนคนในเวลานี้

สนใจหนังสือ คลิก

อ้างอิงจาก : 

https://bit.ly/3LsXFvR

https://bit.ly/3l8HgCh

https://bit.ly/3ZNhiTN

https://bit.ly/40aC3su

https://bit.ly/3lhx5uU

https://bit.ly/3JpZ18e

https://www.facebook.com/TaxBugnoms

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://office04.org/author/taxbugnoms/

สนใจหนังสือคู่มือเขียน Content คลิก
สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top