ธุรกิจรับเหมา ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้รับเหมา

ธุรกิจรับเหมา นอกจากการบริหารทรัพยากรบุคคล ทักษะการสื่อสารและการวางแผนแล้ว สิ่งที่นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องมีอีก คืออะไร?

ถ้ายังอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ที่เคยเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นจะยังเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์อยู่หรือเปล่า?

ว่ากันว่าคนเรามักจะเกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย บางครั้งอาศัยเพียงแค่ประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปในช่วงหนึ่งของชีวิต หรือกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม ก็สามารถพลิกมาเป็นแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ทว่าน่าเสียดายที่ในบางครั้งเรื่องราวเหล่านั้นก็เกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง และกลายมาเป็นความจำเจแบบเดิม ๆ ที่ทำมาเป็นเวลานานจนไม่แน่ใจแล้วว่าหลังจากนั้นจะยังเรียกว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้อยู่หรือเปล่า

ความคิดสร้างสรรค์กับธุรกิจรับเหมาที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ธุรกิจรับเหมา

จริงอยู่ที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างตายตัวว่าแบบไหนคือถูก แบบไหนที่เรียกว่าผิด เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในกรอบมาตั้งแต่แรกเลยต่างหาก แต่ในเวลาเดียวกันความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวหรือไอเดียต่าง ๆ ที่เคยได้รับความนิยมมาก ๆ กลายมาเป็นแค่เรื่องดาด ๆ ธรรมดา ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่กับเรื่องของสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ก็ยังถูกรวมเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน

งานรับเหมาก่อสร้างคงจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่ควบรวมไว้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัวโดยไม่สามารถที่จะแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปจากกันได้เลย และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่หันมาทำอาชีพนี้จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยความนิยมและความคิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะในช่วงเวลานั้นพวกเขาอาจจะเปลี่ยนความคิดและแบบแผนการทำงานอยู่บ่อย ๆ ภายใต้คำว่าความคิดสร้างสรรค์อยู่ก็ได้

ในความเป็นจริงแล้วความคิดสร้างสรรค์ก็คือสิ่งที่มีความหลากหลายและแปลกใหม่ ฉะนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นว่าไอเดียต่าง ๆ กำลังถูกนำมาใช้กับการดำเนินงานอยู่หลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นแผนงานโดยตรงที่ใช้กันในกลุ่มของผู้รับเหมา หรือเป็นงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อเนื้องาน เช่น แบบบ้านที่อ้างอิงจากความนิยมของตลาดในช่วงเวลานั้น ๆ เป็นต้น

มาถึงตรงนี้คงจะเกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่าหากอยากจะฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์บ้างจะต้องเริ่มจากตรงไหน หรือพัฒนาจากอะไรก่อนเป็นอันดับแรก

1. มองปัญหาให้เป็นเรื่องปกติ

เมื่อเจอปัญหาก็มักจะคิดกันไปแล้วว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ชวนปวดหัวแน่ ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนั่นอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่างานสร้างสรรค์ก็ได้ ในงานรับเหมาก่อสร้างคงจะเป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แต่ทว่าประเด็นกลับมุ่งไปที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วตัดสินใจที่จะทำอะไรก่อนเป็นอันดับแรกระหว่างการมองหาบางอย่างมาเป็นแพะรับบาป หรือทางออกที่พอกู้หน้าไปได้ก่อน บางครั้งปัญหาที่ว่าอาจจะเป็นเรื่องเดิม ๆ หรือบางทีอาจเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนสุดท้ายแล้วหากมองว่านี่คือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่ว ๆ ไป ก็จะทำให้มันกลายเป็นเรื่องง่ายได้มากกว่าการตั้งแง่ตั้งแต่แรกว่ามันคือเรื่องยาก

2. แนวทางการแก้ไขที่มีมากกว่าทางเดียว

แน่ล่ะว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วคงไม่มีใครที่จะนั่งรอเวลาเพื่อให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์หรือเห็นว่ารออีกสักหน่อยเดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง เพราะการปล่อยเบลอกับปัญหาไม่เคยเป็นทางออกที่ดีไม่ว่ากับธุรกิจในรูปแบบไหนก็ตาม และสุดท้ายคงคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่วันไหนก็วันหนึ่งคงโผล่ขึ้นมาให้เห็นอีกแน่ ๆ ดังนั้นในหลาย ๆ ครั้งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นในทันทีมากกว่าที่จะปล่อยไว้แล้วค่อยมาตามแก้ทีหลัง

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาก็ไม่ได้มีแค่ทางออกเดียว เพราะจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ก็มาจากการวางแผนรับมือที่มากกว่าหนึ่งทาง หรือที่หลาย ๆ คนมักจะเรียกกันว่าแผนหนึ่ง แผนสอง ซึ่งแน่นอนว่าการมีตัวเลือกมากกว่าหนึ่งอย่างจะทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่มากกว่าหรืออยู่นอกเหนือจากสิ่งที่คิดไว้ในตอนแรก และอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างในสถานการณ์ที่หลากหลาย มีความซับซ้อน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้

สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่าสิ่งที่กลายมาเป็นความแปลกใหม่ในปัจจุบันต่างก็เคยเป็นทั้ง Pain Point และปัญหาในอดีตมาก่อนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดก็ได้ผ่านการคิดและแก้ปัญหาที่หลากหลายจนกระทั่งได้กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาจากกรอบเดิม ๆ ของสิ่งที่ถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่การทำบ้านหรือการก่อสร้างก็ตาม และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนธุรกิจการก่อสร้างที่จะไม่หยุดอยู่กับที่และสามารถเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ตลอดเวลา

สนใจหนังสือ คลิก

ความสามารถในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าของผู้รับเหมา

ทำไมต้องแก้จุดผิดก่อนที่จะกลายเป็นจุดพัง

คำว่า “สิบเท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ยังคงใช้ได้ดีเสมอในการเปรียบเปรยสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่ามันอาจไม่ได้ปูไปด้วยเส้นทางที่รายเรียบเสมอไป บางครั้งก็ต้องสะดุดล้มลงอย่างไม่เป็นท่าเพียงเพราะปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือบางครั้งก็เจอกับเรื่องยุ่งยากระหว่างทางเพื่อให้รู้ว่าไม่มีความสำเร็จไหนที่ไม่มีอุปสรรคเลย 

แต่หลายต่อหลายครั้งเรื่องเล็กน้อยที่ว่าก็ทำให้คนเรามักจะคิดไปแล้วว่า…ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร จนสุดท้ายก็เหมือนกับการเลี้ยงไข้ กว่าจะรู้ว่าปัญหาใหญ่ ๆ ที่เผชิญอยู่ตรงหน้ามาจากปัญหาที่ตัวเองเคยมองข้ามก็กลายเป็นว่ามันเลยจุดที่จะย้อนกลับไปแก้ไขได้แล้ว

ใครบ้างล่ะที่ไม่เคยเจอปัญหา…ก็แทบจะไม่มี

แต่มีใครบ้างล่ะที่เจอปัญหาแล้วเลือกที่จะแก้ไขตั้งแต่ตอนนั้น

ถ้าพูดกันตามตรงก็คงมีแค่ส่วนน้อยเพราะโดยทั่วไปแล้วการหยุดเพื่อแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็กินเวลาของการทำงานส่วนอื่น ๆ ไปด้วยเช่นกัน แต่ทว่าเมื่อต้องหยุดชะงักในบางจุดหลายต่อหลายครั้งเข้าจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือคนที่ต้องดูแลการบริหารงานหลัก ๆ ได้กลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาเล็กน้อยจะไม่ส่งผลกระทบกับเนื้องานเลยหากว่าพวกเขารู้จักทักษะด้านการตัดสินใจและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ทักษะด้านการตัดสินใจและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นไม่ว่าจะทำอาชีพไหน ตำแหน่งอะไรก็ต้องมีติดตัวด้วยกันทั้งนั้น เพราะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาจริง ๆ ต่อให้มีความสามารถในการบริหารจัดการหรือมีความรู้เกี่ยวกับเนื้องานมากเพียงใด แต่ไม่รู้จักการแก้ปัญหาและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุและผลก็ตกม้าตายได้เหมือนกัน

แล้วการตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีต้องเป็นแบบไหน?

สนใจหนังสือ คลิก

1. รู้จักต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

ว่ากันว่าปัญหายิ่งเจอเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งหาทางแก้ไขได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พื้น ๆ ง่าย ๆ หรือปัญหาที่ซับซ้อน มีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การค้นหาต้นตอของปัญหาจริง ๆ ว่าคืออะไร มีต้นสายปลายเหตุมาจากไหน เช่น ผู้รับเหมาพบว่าระหว่างการก่อสร้างพื้นกระเบื้องที่ทำออกมาไม่ได้เป็นไปตามแบบที่ลูกค้าได้กำหนดไว้ในตอนแรกทั้งที่วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ก็ตามตามแบบทั้งหมด แต่หลังจากที่ทำการตรวจสอบแล้วก็พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากปริมาณคนทำงานที่มีอยู่จำกัดและคนที่รับผิดชอบในการปูกระเบื้องไม่ได้มีความถนัดในด้านนี้ซึ่งถือเป็นต้นตอของปัญหาดังกล่าว และเมื่อเจอต้นสายปลายเหตุที่ถูกจุดแล้วจะสามารถแก้ปัญหาต่อไปได้อย่างตรงประเด็น อย่างเช่น การแก้ไขคือการหาคนงานเพิ่มเพื่อไม่ให้ภาระงานตกไปอยู่ที่คนใดคนหนึ่งมากเกินไปและหาคนที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานในส่วนนี้แทน

2. ศึกษาปัญหาให้รอบด้านและมองหาทางแก้ไขที่เป็นไปได้

เมื่อหาต้นตอหรือปัญหาที่แท้จริงได้แล้วคงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ว่า…แก้ให้จบแล้วคือจบ พราะนอกจากนั้นแล้วอาจต้องลองศึกษาหาข้อมูลถึงธรรมชาติของปัญหานั้น ๆ ลองดูว่าปัญหาแนวนี้หรือกรณีที่ใกล้เคียงเคยใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไร และวิธีเหล่านั้นช่วยแก้ปัญหาได้จริงและยั่งยืนหรือไม่ หากไม่ใช่วิธีการแก้ไขที่ยั่งยืนควรหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่า ด้วยการหาแนวทางแก้ไขอื่น ๆ ที่พอจะเป็นไปได้ออกมาเป็นข้อ ๆ ซึ่งในส่วนนี้หากเป็นงานก่อสร้างที่มีรายละเอียดต้องเก็บค่อนข้างมาก อาจจะเริ่มจากการหาจุดแข็งของคนงานแต่ละคนว่ามีความถนัดอะไรบ้างเพื่อที่จะได้จัดสรรกำลังคนให้ตรงกับงานมากขึ้น

3. ถึงเวลาตัดสินใจอย่างมีเหตุและผล

เมื่อมีแนวทางแก้ไขที่มากขึ้นแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือการทำการประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละทางว่าวิธีไหนมีความคุ้มค่าหรือประสิทธิภาพมากกกว่า ผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงหลักการ 3 ข้อหลัก ๆ คือ…

  • การได้ประโยชน์สูงสุด (Maximize Utility) วิธีนี้จะนำไปสู่การเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด เป็นไปได้มากที่สุด ให้ผลในทางบวกมากที่สุด และให้ผลในทางลบน้อยที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ของทางเลือกนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งค่าใช้จ่ายต่ำสุดหรือมีผลตอบแทนที่ได้กลับมาที่ตัวของผู้รับเหมาได้มากกว่า
  • ความพอใจสูงสุด (Maximize Satisfaction) ทางเลือกนี้แม้ว่าจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์และความคุ้มค่ามากที่สุดแต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยลูกค้าและผู้รับเหมาทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้กับผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปทั้งยังมีผู้ยอมรับเห็นพ้องต้องกันมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ให้ผลประโยชน์สูงสุด
  • ทางเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด (Optimizing) ทางเลือกนี้คงเป็นความก้ำกึ่งที่จะเรียกว่าให้ประโยชน์สูงสุดก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าจะบอกว่าสร้างความพอใจมากที่สุก็ไม่ถูกต้องอีก เพราะทางเลือกนี้คือทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายหลายอย่างพร้อม ๆ กัน และถือเป็นกลยุทธ์การตัดสินใจที่ทำให้เกิดผลที่ดีสุดในหลาย ๆ เป้าหมายโดยยึดหลักของความเหมาะสมเป็นสำคัญไม่ว่าผลลัพธ์จะสร้างความพอใจหรือสร้างประโยชน์สูงสุดหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการตัดสินใจในระยะเวลาที่กระชั้นชิดยังสามารถนำทักษะอื่น ๆ มาเป็นตัวช่วยได้การแก้ปัญหาได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกโดยไม่ต้องยึดติดวิธีเดิม ๆ หรือการใช้ทักษะการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อช่วยให้วิเคราะห์ต้นตอปัญหาที่แท้จริงและเพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นตรงจุด รวมทั้งควรมีทักษะทางด้านความคิดและการทำงานเป็นทีมเพื่อให้การแก้ปัญหาเดินหน้าต่อไปได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว

สนใจหลักสูตร Flipping คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top