ธุรกิจรับเหมา การบริหารทรัพยากรบุคคล ทักษะการสื่อสารและการวางแผน

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว 

และกรุงโรมก็ไม่ได้สร้างด้วยคนคนเดียว

คงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่างานไหน ๆ ไม่ว่าจะยากหรือง่ายก็ไม่สามารถที่จะเสกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปอย่างที่ใจต้องการได้ภายในช่วงเวลาชั่วพริบตาเดียว ยิ่งเป็นงานยาก ๆ ก็ยิ่งรู้ว่ามันต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เหมือนกับวลีเด็ดที่พูดต่อ ๆ กันมาว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”

แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ธุรกิจรับเหมาในบางครั้งผลลัพธ์ที่ดีก็ไม่ได้สำเร็จได้จากการลงมือของคนแค่คนเดียว ว่ากันว่างานจะเสร็จช้าหรือเร็ว ออกมาดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกแค่ไม่กี่ข้อ แถมยังรวมไปถึงการบริหารงานอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล  การสื่อสารและการวางแผนให้เหมาะสมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบและขอบเขตในการทำงานด้วย

ธุรกิจรับเหมา

การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของธุรกิจรับเหมา

การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นหนึ่งสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของ ธุรกิจรับเหมา ก่อสร้างเลยก็ว่าได้ แน่นอนล่ะว่าการทำธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้อาศัยเพียงแค่คนคนเดียวแน่ ๆ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับต้องมีคนมากมายที่มีหลากหลายทักษะที่แตกต่างกันออกไปด้วยซ้ำ ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็คงจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาในการตัดสินใจอีกเช่นกันว่าจะบริหารอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “Put the right man on the right job” เพราะแรงงานเองก็ไม่ได้ขายแค่แรง แต่เป็นการขายทักษะเฉพาะด้านที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้วย

เคยตั้งข้อสงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับคนก่อนเป็นอันดับแรก

ถ้าลองค้นหาความเป็นมาหรือแนวคิดขององค์กรใหญ่ ๆ จะเห็นได้ว่าหนึ่งในเส้นทางที่ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตก็คงไม่พ้นการให้ความสำคัญกับแรงงานคนเพราะคนก็คือกำลังหลักของการทำงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในรูปแบบไหนก็ตาม และถึงแม้ว่าในปัจจุบันการทำงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นและลดบทบาทของแรงงานที่เป็นกำลังคนลง แต่ทว่าก็ยังไม่สามารถปรับใช้ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว แม้แต่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเองก็ตาม

สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กคงจะเห็นว่าคนคนหนึ่งมีทักษะที่เชี่ยวชาญหรือมีความสามารถในการทำงานมากกว่าหนึ่งอย่าง ทั้งเชี่ยวชาญงานโครงสร้าง ทั้งถนัดงานฐานราก หนำซ้ำยังพ่วงความสามารถในการเป็นช่างดูแลงานพื้นงานผนังอีก นั่นก็เป็นเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กมักจะมีกำลังคนอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และด้วยเหตุผลข้อนี้เองจึงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมหลาย ๆ คนถึงมีทักษะและความถนัดในงานก่อสร้างที่หลากหลาย 

และในขณะเดียวกันก็ยังมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก ซึ่งก็แน่ล่ะว่ากำลังคนก็ต้องเพิ่มมากขึ้น บางครั้งความรับผิดชอบของพนักงานหนึ่งคนอาจจะเป็นเพียงหน้าที่เดียวหรือเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนิดหน่อยแต่ทว่าก็ไม่ได้มากเท่ากับงานของผู้รับเหมาขนาดเล็ก ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของธุรกิจรูปแบบนี้มีความชัดเจนมากกว่า ทั้งยังสามารถระบุหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงานได้ง่ายขึ้น

มาถึงตรงนี้อาจจะเกิดความสงสัยว่าการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลนั้นมีความสำคัญอย่างไรกับเนื้องาน ซึ่งคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเกี่ยวข้องเต็ม ๆ ทั้งในแง่ของการวางแผนระบบการทำงาน รวมไปถึงการกำหนดขอบเขตงานของแต่ละคน แต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสมภายใต้ระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดหรือถูกกำหนดเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น…

บริษัทรับเหมา A ได้รับงานมาจากเจ้าของโครงการบ้านแห่งหนึ่ง โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่เซ็นสัญญามอบพื้นที่ก่อสร้างไปจนถึงวันที่ครบกำหนดที่ผู้รับเหมาจะต้องส่งคืนพื้นที่ก่อสร้างให้กับเจ้าของโครงการ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลา 1  ปีที่ว่านี้ผู้รับเหมาจะต้องดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างงานก่อสร้าง ซึ่งสิ่งแรกที่ผู้รับเหมาจะต้องทำก็คือวางแผนการดำเนินงานและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายว่างานไหนที่ต้องทำก่อนหรือหลัง แล้วรายละเอียดของงานต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยกี่วันกับแรงงานกี่คน ตำแหน่งงานไหนที่กำลังคนไม่เพียงพอ หรือตำแหน่งไหนที่จำเป็นจะต้องหาคนเพิ่ม เพื่อให้มั่นใจว่างานจะสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุดลงที่จุดไหนจุดหนึ่งเสียก่อน

นอกจากนี้การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลยังเป็นสิ่งที่จะเข้ามากำหนดด้วยว่าบริษัทหรือผู้รับเหมาสามารถรับงานประเภทไหนได้บ้าง เพราะหากเป็นงานที่มีความละเอียดหรือมีความซับซ้อนสูงก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด และการเลือกงานที่เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจตัวเอง เหมาะกับคนของตัวเอง ก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาระหว่างผู้รับเหมาและลูกค้าในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

ถ้าให้พูดง่าย ๆ คือสุดท้ายแล้วการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลก็คือแผนขั้นต้นก่อนการวางแผนลำดับต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้องานหรือแม้แต่การเลือกรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ เพราะหนึ่งในใจความสำคัญของเรื่องนี้ก็คือการรู้จักทั้งคนและรู้จักทั้งองค์กรของตัวเองเพื่อนำไปต่อยอดในธุรกิจว่างานในอนาคตแบบไหนจึงจะเหมาะสมทั้งกับกำลังคนและต้นทุนต่าง ๆ เพื่อที่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นไปตามที่คาดหมายได้มากที่สุดโดยไม่ส่งผลกระทบทั้งกับลูกค้าและตัวของผู้รับเหมาเอง

สนใจหนังสือ คลิก

ทักษะการสื่อสารกับการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ด้วยการพูดคุย

นักลงทุนยุคใหม่ อาศัยแค่ความรู้และทฤษฎี (เพียงพอหรือเปล่า?)

ถ้าเป็นเมื่อก่อนหากใครที่อยากจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารก็คงต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เด่นชัดมากจนคนอื่นเห็นแล้วจะต้องรู้ได้ทันทีว่านี่แหละคือคุณสมบัติที่แท้จริงของคนที่จะเป็นนักธุรกิจ สิ่ง ๆ นี้ต่างคนต่างก็เรียกว่า “ความรู้” เพราะเมื่อไหร่ที่มีความรู้นั่นอาจหมายความว่าคนคนนั้นจะได้รับการยอมรับแล้วมากกว่าครึ่ง เหตุผลคืออะไรล่ะ…ก็เพราะเขาเก่งไง

แต่ในปัจจุบันการมีทักษะความรู้เพียงอย่างเดียวจะไปรอดหรือเปล่า?

อย่างที่บอกไปว่าหากเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะใช่ แต่ในปัจจุบันที่โอกาสสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ทำให้แต่ละวันต่างก็มีทั้งนักธุรกิจที่เพิ่งจะเติบโตขึ้นมาใหม่ และนักธุรกิจเจ้าเดิม ๆ ที่กำลังนับก้าวถอยหลังเพื่ออำลาจากวงการไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือภาวะจำยอมก็ตาม เมื่อความรู้ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวที่จำเป็นแล้ว จึงนำมาซึ่งคำถามว่านอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติอะไรอีกเพื่อที่จะทำให้ตัวเองสามารถยืนอยู่ได้ต่อท่ามกลางการแข่งขันที่มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน

คอนเนคชั่นเหรอ?

ถ้าให้พูดกันตามตรงก็คงมีอยู่หลายธุรกิจที่สามารถเดินหน้าต่อได้เพราะมีคอนเนคชั่นที่สามารถซัพพอร์ตธุรกิจเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าก่อนที่จะก้าวข้ามไปถึงขั้นที่สามารถสร้างเครือข่ายได้ขนาดนั้นต้องมีทักษะอะไรที่ต้องมาพร้อมกับความรู้

ใช่… ทักษะด้านการสื่อสาร

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีทีมงานอยู่เพียงแค่หยิบมือหรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานอยู่หลักร้อยหลักพันก็คงจะขาดทักษะนี้ไปไม่ได้เลยเพราะต่อให้ไม่อยากจะสร้างคอนเนคชั่นกับใคร แต่ทว่าสุดท้ายก็ต้องกลับมาประสานงานกับคนในทีมของตัวเองอีกอยู่ดี ฉะนั้นแล้วจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ

สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ว่ากันว่าธุรกิจรับเหมาก็คือหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กันโดยที่จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย บางคนอาจจะเก่งเรื่องทฤษฎีร้อยแปด บางคนอาจจะเก่งเรื่องการสร้างมนุษยสัมพันธ์ แต่ทว่าเมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในจุดที่ต้องเป็นคนบริหารจัดการธุรกิจแล้วกลับต้องพบว่า…คุณไม่สามารถเลือกได้เลยว่าจะเป็นคนที่เก่งเพียงแค่ด้านเดียวได้จริง ๆ

รับเหมาต้องเจอกับใครบ้าง

ลูกค้า เจ้าของโครงการ

ร้านขายวัสดุก่อสร้าง

หรือแม้แต่ช่างในทีมรับเหมาของตัวเองก็ด้วย

ทุกคนต่างก็ต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ได้คุณภาพ ลองคิดดูสิว่าจะเป็นอย่างไรหากว่าเจ้าของบริษัทผู้รับเหมาและทีมช่างไม่ได้มีการสื่อสารที่ดีพอ และจะต้องชวดงานอีกกี่รอบหากว่าการเสนอราคากับลูกค้านั้นไม่ได้เป็นอย่างที่หวังเนื่องจากการพูดคุยที่ไม่ลงตัว หรือแม้แต่การต่อรองเล็ก ๆ น้อย ๆ กับร้านขายวัสดุก่อสร้างก็คงเกิดขึ้นได้ยากจนนำมาซึ่งปัญหาที่ว่าจะต้องแบกรับค่าวัสดุก่อสร้างด้วยราคาปกติโดยไม่ได้รับส่วนลดเลยแม้แต่บาทเดียว

หลายครั้งคำว่า “ทักษะการสื่อสาร” ก็นำมาซึ่งความเข้าใจแบบผิด ๆ ว่าต้องพูดให้เก่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทักษะที่ว่านี้ก็คือการพูดให้เป็นต่างหาก ในบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นจะต้องพูดตลอดเวลาก็ได้แต่ต้องรู้ว่าเวลาไหนที่ควรแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา หรือช่วงเวลาไหนที่ควรจะเงียบเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องใช้แค่ตอนที่อยู่ต่อหน้าลูกค้าหรือคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนอื่น ๆ ที่อยู่ในทีมเดียวกันก็ด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากทักษะในด้านของการสื่อสารโดยเฉพาะการพูดคุยที่มาจากตัวของเจ้าของธุรกิจหรือหัวหน้าทีมผู้รับเหมาก็คือการที่คนในทีมสามารถรับรู้ได้ถึงความคาดหวังและความต้องการอย่างชัดเจนจากผู้ที่มีหน้าที่ในการมอบหมายงาน และหากทำได้ก็จะทำให้คนอื่น ๆ ในทีมเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาต้องทำก่อน-หลังอย่างเป็นกระบวนการคืออะไร เพื่อไม่ให้งานหลุดออกไปจากขอบเขตที่วางไว้นั่นเอง

มากไปกว่านั้นคนในทีมจะไม่เกิดความสงสัยว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ แน่นอนว่าการเกิดความสับสนเป็นเรื่องปกติ ผู้นำที่มีทักษะการสื่อสารที่ดีจะทำให้แน่ใจได้ว่าทุกคนในทีมรู้บทบาทและความรับผิดชอบของตัวเองเป็นอย่างดี

และท้ายที่สุดก็คงไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยากจะเจอกับสถานการณ์ที่ชวนเซอร์ไพรส์ ทั้งฝ่ายลูกค้าหรือทีมช่างก็ตาม และในขณะเดียวกันคงไม่มีใครที่จะอยากได้ยินคำว่า “ไม่ตรงบรีฟ” หรือว่า “ขอรื้อใหม่ทั้งหมดเพราะไม่ได้ตามแบบ” เพราะแบบนั้นคงจะเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวให้ทุกฝ่ายอย่างแน่นอนโดยเฉพาะกับคนที่ต้องจ่ายต้นทุนเพิ่มโดยที่ได้งานเท่าเดิม แถมยังต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว จากต้นสายปลายเหตุของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความไม่ชัดเจน หรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม

แต่มันจะดีกว่าไหมหากว่าสุดท้ายแล้วงานจะจบได้จากการสื่อสารที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรก เพราะอย่างน้อย ๆ ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าการสื่อสารที่ดีจะช่วยลดปัญหาที่ไม่คาดคิดลงได้อย่างแน่นอน

การวางแผนและการออกแบบผลลัพธ์จากการบริหารเวลา

“ปิดงานไม่ทัน” ปัญหาโลกแตกของผู้รับเหมา

ขึ้นชื่อว่าการทำงานอย่างมีระบบก็มักจะมีหนึ่งในข้อจำกัดที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน สิ่งนั้นมักจะถูกเรียกว่า “เวลา” ที่หากมองในมุมหนึ่งก็คงเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่างานแต่ละชิ้นจะมีระยะเวลาในตอนเริ่มต้นไปจนถึงตอนที่ต้องสิ้นสุดนานแค่ไหน แต่ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นเหมือนกับนาฬิกาทราย ระเบิดเวลา หรืออะไรก็ตามแต่ สำหรับใครบางคนด้วย 

หนึ่งในนั้นคือผู้รับเหมา

แรกเริ่มก็อาจจะเป็นไปด้วยดีเพราะระยะเวลาที่ยืดหยุ่นอาจทำให้รู้สึกว่ายังเหลือเวลาอีกเยอะแยะ แต่ทว่าในการทำงานไหนบ้างล่ะที่จะไม่เจอปัญหา โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานรับเหมาก่อสร้างที่ขึ้นชื่อว่าเจอปัญหาเหมือนเจอหน้าคนรู้จักจนถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเผชิญหน้ากับปัญหาในแต่ละครั้งก็ไม่ได้จบลงง่าย ๆ เสมอไป บางครั้งอาจกินเวลาไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ๆ จนสุดท้ายแล้วจากเวลาที่คิดว่ามีเหลือถมเถไปก็กลายเป็นไฟที่ลนก้นมาเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่ว่า… “ปิดงานไม่ทันกำหนด”

ปิดงานไม่ทันแล้วยังไงล่ะ?

สนใจหนังสือ คลิก

เรื่องแบบนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะพบเจอสักเท่าไหร่ แต่ใครบ้างล่ะที่จะหลีกเลี่ยงได้อย่างที่หวัง บ่อยครั้งปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ทั้งผู้รับเหมาและลูกค้าต้องเสียทั้งต้นทุนเพิ่ม เพราะไหนจะเวลาที่ต้องยืดออกไปอีก แต่ในช่วงเวลาวิกฤตผู้รับเหมาบางคนอาจจะต้องเจอกับฝันร้ายที่มากกว่านั้น นั่นก็คือการที่ต้องจ่ายค่าปรับตามสัญญาเมื่อไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนด

ทำงานก็หวังว่าจะได้เงินแต่สุดท้ายกลับได้งาน(งอก)เพิ่มมาอีก เป็นใครก็ต้องใจเสียเป็นธรรมดา แต่ทั้งนี้ก็ต้องย้อนกลับมาดูที่ปัญหาก่อนว่าจริง ๆ แล้วต้นสายปลายเหตุที่ทำให้งานเกิดความล่าช้าจนไม่ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แต่ไม่ทั้งหมด ต่างก็เป็นไปในทิศทางที่คล้าย ๆ กันนั่นก็คือการวางแผนดีแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้มีการแบ่งขอบเขตงานที่ไม่ชัดเจนมากพอ

แล้วการวางแผนที่ดีและมีประสิทธิภาพควรเป็นแบบไหน?

คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าแบบไหนที่ดีหรือแบบไหนที่ยังไม่ดีพอ แต่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาเสียก่อนถึงจะรู้ว่า…อ๋อ ที่แท้แล้วพลาดก็เพราะเรื่องนี้นี่เอง แต่ใครบ้างล่ะที่อยากจะให้ดำเนินไปจนถึงจุด ๆ นั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีความเสียหายเกิดขึ้นมาก็เท่ากับว่ามีราคาที่จะต้องจ่ายเพิ่มทั้งระยะเวลาและทรัพย์สินเงินทองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ขึ้นชื่อว่าเป็นการวางแผนทุกคนก็คงมีแผนในใจกันอยู่แล้วว่าต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง แต่นั่นคือแผนที่มีประสิทธิภาพแล้วจริง ๆ น่ะหรือ? ถ้ายังไม่แน่ใจคงจะต้องย้อนกลับมาดูใหม่แล้วว่าการสร้างทักษะด้านการวางแผนที่ถูกต้องและสามารถลดปัญหาได้อย่างแท้จริงเป็นยังไง

ทักษะด้านการวางแผนเป็นทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบความคิด หรือความสามารถในการคิดวางแผนหรือคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย เช่น การจัดลำดับขั้นตอนความสำคัญ, การตัดสินใจที่ดี, การกำหนดหรือมอบหมายงานที่เหมาะสมกับทักษะ, การวางแผนการจัดการ เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะทางการคิดที่ทำให้สามารถทำงานสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดิมทีแล้วทักษะด้านการวางแผนคือทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบความคิดหรือความสามารถในการคิดวางแผนหรือคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายต่าง ๆ เช่น การจัดลำดับขั้นตอนความสำคัญ การตัดสินใจที่ดี การกำหนดหรือมอบหมายงานที่เหมาะสมกับทักษะของคนในทีม รวมถึงการวางแผนการจัดการต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะทางการคิดที่ทำให้สามารถทำงานสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าโดยปกติแล้วทุกคนจะมีความสามารถในทักษะด้านการวางแผน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมักจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พบเจอในหน้างาน หรือการใช้ชีวิตอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนเร็วยิ่งกว่าการหมุนของโลกเสียอีก ทุก ๆ อย่างมักจะเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อให้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นเสมอไม่เว้นแม้แต่ปัญหาที่พบเจอด้วยความไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งการมีทักษะการวางแผนที่ดีโดยเฉพาะการย่อยงานให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จะช่วยให้สามารมองเห็นเป้าหมายในการทำงานได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งขอบเขตของงานในแต่ละส่วนเมื่อบวกลบกับระยะเวลาและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนด้วย

อย่างไรก็ตามทักษะด้านการวางแผนเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ด้วยการกระตุ้นการใช้ทักษะและการฝึกเรียนรู้จากการทำงานที่เหมาะสม ได้ใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และรู้จักการนำความรู้ต่าง ๆ ที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ในตอนแรกอาจจะพบว่าระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดคือปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้งานไม่เป็นไปอย่างที่หวัง แต่ทว่าเมื่อลองมองในมุมมองใหม่ ๆ ด้วยแผนที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบตั้งแต่ครั้งแรกโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่แน่ว่านั่นอาจจะทำให้เห็นภาพรวมของผลลัพธ์ในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการมองเห็นจุดที่คาดว่าน่าจะเป็นปัญหาได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องรอคอยให้เรื่องนั้นกลายมาเป็นปัญหาที่แท้จริงในภายหลัง

สนใจหลักสูตร Flipping คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top