โครงการพูลวิลล่า ควรออกแบบยังไงไม่ให้สถาปนิกปิดปากร้อง "อ้าว"

ในการออกแบบ โครงการพูลวิลล่า เราต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

หลาย ๆ คน รวมถึงตัวนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเจ้าของโครงการบางท่านอาจไม่ทันสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างบ้านพักแบบพูลวิลล่าและบ้านที่สร้างพร้อมสระว่ายน้ำ แต่ในมุมของนักท่องเที่ยว รวมถึงตัวสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และการจับผิดแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน นั่นคือ การออกแบบ (1) และการใช้งาน (2)

โดยทั้งสองส่วนนี้อาจมีการอธิบายที่ซ้อนทับกันบ้างในบางช่วง เนื่องจากในมุมมองของสถาปนิก การออกแบบและการใช้งานต้องเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งหากทั้งสองอย่างนี้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่น การออกแบบไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง หรือการใช้งานบางอย่างขัดแย้งกันในแง่ของการออกแบบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาไม่เพียงแต่จะทำให้สิ้นเปลืองเงินทุน แต่ยังกระทบถึงการขาย แบรนด์โครงการ รวมถึงส่งผลเชิงลบต่ออารมณ์ของกลุ่มลูกค้าที่ก้าวเข้ามาในที่พักด้วยความตื่นเต้น แต่สุดท้ายกลับต้องผิดหวังที่สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ตรงกัน

สนใจหนังสือ คลิก
โครงการพูลวิลล่า

การออกแบบที่ดีจำเป็นต้องมีรากฐานมาจากความต้องการของกลุ่มลูกค้า

ซึ่งก่อนจะรู้ว่าความต้องการของลูกค้าคืออะไร เจ้าของโครงการหรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องรู้เสียก่อนว่า ใคร กันแน่คือกลุ่มเป้าหมาย ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กอปรกับที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนและพักผ่อนกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้ใคร ๆ ต่างก็มองว่าการลงทุนในโครงการพูลวิลล่านั้นเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ได้แล้ว ยังมอบความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้เข้าพักได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าวไม่ได้มีเพียงกลุ่มเพื่อนที่นัดกันมาเที่ยวเล่นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือกลุ่มพนักงานที่มองหาบ้านพักที่สามารถจัดงานเลี้ยงเซอร์ไพรส์วันเกิดหัวหน้าได้เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติจะมาเป็นกลุ่มลูกค้าของเราได้อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มอื่น ๆ ที่ว่ามานี้ แน่นอนว่ามีความต้องการและความคาดหวังที่แตกต่างกัน

การบ้านของเจ้าโครงการคือการตีไข่ให้แตกว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะได้กำหนดความต้องการ และออกแบบบ้านพักให้สอดรับกับความต้องการนั้น ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ

หากยึดหลักการออกแบบบ้านพักพูลวิลล่าดั้งเดิมซึ่งออกแบบภายใต้เงื่อนไขกว้าง ๆ อย่างจำนวนผู้เข้าพัก และจุดประสงค์ที่มาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจแล้วล่ะก็ ส่วนใหญ่จะนิยมออกแบบบ้านชั้นเดียวเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัวแอล (L) โดยให้สระน้ำอยู่ตรงกลาง ในกรณีที่มีพื้นที่จำกัด มักสร้างบ้านพักสองชั้นและวางสระน้ำไว้ด้านหน้าซึ่งอาจต้องตีกำแพงเตี้ย รั้ว หรือต้นไม้กั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว บริเวณจอดรถต้องกว้างพอรองรับจำนวนผู้เข้าพักโดยอย่างน้อยต้องสามารถจอดได้สองคันขึ้นไป ซึ่งนอกจากสระว่ายน้ำที่เป็นลักษณะเด่นของบ้านพักพูลวิลล่าแล้ว อ่างจากุชชี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยอาจวางไว้บริเวณข้าง ๆ สระน้ำ ชานบ้าน บริเวณนอกระเบียงชั้นสอง ริมหน้าต่างหรือประตูที่สามารถเปิดและมองเห็นวิวไกล ๆ ได้ การเพิ่มอ่างจากุชชี่เข้ามาในบ้านพักถึงแม้บางครั้งจะดูเป็นการสิ้นเปลือง แต่กลับตอบแทนในแง่ของความสมบูรณ์และการใช้งานของบ้านพักได้อย่างดีเยี่ยม ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่มาพักพูลวิลล่ามีความต้องการใช้สระว่ายน้ำเสมอไป อีกทั้งบางฤดู เช่นฤดูหนาวหรือฤดูฝนก็ไม่เหมาะที่จะลงเล่นในสระว่ายน้ำ การมีอ่างจากุชชี่ซึ่งสามารถปรับอุณหภูมิและมีระบบและลูกเล่นให้เลือกมากมายจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้เข้าพักสามารถใช้เพื่อผ่อนคลายได้

ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าตลาดท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ขยายขนาดขึ้นจนน่าตกใจ ทั้งยังมีปลาสีต่าง ๆ พากันอพยพเข้ามาแย่งที่ปลาเจ้าถิ่นกันอย่างครื้นเครง สิ่งที่ดึงดูดสายตาได้ก่อนมักได้รับความสนใจเป็นอย่างแรกเสมอ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่บ้านพักพูลวิลล่าที่สร้างขึ้นใหม่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กันโดยออกไปในทางมินิมอลและโมเดิร์นซึ่งกำลังอยู่ในกระแสนิยม  

นักท่องเที่ยวอาจต้องร้อง “ว้าว” ให้กับการออกแบบบที่ร่วมสมัย แต่ในมุมมองของสถาปนิก อาจต้องปิดปากและร้อง “อ้าว” แทน

อย่าลืมว่าการออกแบบต้องสัมพันธ์กับการใช้งาน การออกแบบบ้านสไตล์มินิมอลหรือโมเดิร์นมักเน้นพื้นที่โล่งกว้างและมีห้องในจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าที่มองหาบ้านพักพูลวิลล่ามักมากันเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างน้อย ๆ ก็ 6-10 คนขึ้นไป จำนวนห้องนอนจึงต้องมี 3-4 ห้องเป็นอย่างต่ำ ซึ่งหากเป็นบ้านที่ออกแบบในสไตล์โมเดิร์นและเน้นให้อยู่อาศัยมากกว่าการเปิดให้เช่าหรือเข้าพัก ส่วนใหม่มักมีเพียง 1-2 ห้องนอนเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งต้องสร้างห้องเพิ่มตามทีหลัง ซึ่งในกรณีนี้นอกจากต้องเสียเงินเพิ่ม ลักษณะการแบ่งภายในเริ่มผิดเพี้ยน ยังส่งผลกระทบในเรื่องของเสียงรบกวนอีกด้วย เนื่องจากห้องที่สร้างเสริมขึ้นมามักใช้ผนังเบายิ่มซั่มซึ่งไม่เก็บเสียง ทำให้บางครั้งเสียงภายนอกหรือจากห้องข้าง ๆ ดังเข้ามารบกวนและสร้างความรำคาญได้

การใช้งานพื้นที่ทั้งนอกและในตัวบ้านก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการวางห้องน้ำที่จำเป็นต้องมีส่วนอาบน้ำไว้ทุกห้อง หรือการพิจารณามีห้องน้ำและที่สำหรับล้างตัวไว้บริเวณนอกบ้าน เพื่อให้ผู้ที่ใช้สระน้ำได้ล้างตัวก่อนและหลังลงสระ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นด้านในบ้านเปียกและลดความเสี่ยงที่พื้นจะบวมน้ำหรืออุบัติเหตุจากลื่นล้ม การทำหลังคาให้ยื่นบังสระว่ายน้ำ รวมถึงการดูองศาของบ้านให้เงาตกลงไปบนสระเพื่อป้องกันแสงแดดและให้สามารถเล่นน้ำได้ตลอดทั้งวัน หรือการวางโซนครัวที่ควรมีทั้งในและนอกบ้าน ลานปิ้งย่าง ลานทำกิจกรรม เครื่องเล่นต่าง ๆ เช่นสไลเดอร์ เหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ เจ้าของโครงการควรเตรียมการใช้งานของสิ่งเหล่านี้ให้ครบ ซึ่งถ้าถามวว่าควรพิจารณาเรื่องไหนก่อนเป็นอันดับแรก คำตอบคงหนีไม่พ้นการกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนเพื่อตรวจสอบความต้องการของพวกเขานั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่นผู้เข้าพักคือกลุ่มครอบครัวที่พากันมาฉลองวันเกิดคุณตาอายุครบ 80 ปี แน่นอนว่าการออกแบบควรเริ่มตั้งแต่บริเวณส่วนหน้าของบ้าน ควรทำบ้านให้พื้นขนาบไปกับพื้นดิน หรือยกสูงสักหน่อยและมีบันไดและทางลาดในกรณีที่มีผู้เข้าพักนั่งรถเข็นหรือมีสัมภาระเยอะไหม หรือควรมีขอบยางกันลื่นและสไลเดอร์สำหรับเด็กเตรียมไว้หรือไม่ ข้อสังเกตเหล่านี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากสามารถกำหนดได้อย่างละเอียด ไม่เพียงแต่จะช่วยในเรื่องของการตลาดและปิดการขายได้ง่ายขึ้น แต่ยังรวมถึงการทิ้งความประทับใจให้แก่ลูกค้า ทำให้พวกเขานึกถึงและกลายเป็นลูกค้าประจำได้เลยทีเดียว

ดังนั้นแล้ว บ้านพักพูลวิลล่าจะดีหรือไม่ดี จะขายได้หรือถูกทิ้งร้าง ขึ้นอยู่กับว่าสามารถตอบโจทย์ของกลุ่มลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหนโดยแน่นอนว่าต้องอาศัยความใส่ใจและการทุ่มเทอย่างมาก แน่นอนว่าคุณอาจจะรู้สึกเหนื่อยและมีคำถามว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อผ่านช่วงเริ่มต้นมาได้ ช่วงต่อ ๆ ไป หยาดเหงื่อจะเริ่มกลายเป็นเม็ดเงิน จากคำถามจะกลายเป็นความมั่นใจ ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่จะใช้มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ละคนเช่นกัน  

สนใจหนังสือ คลิก
สนใจหลักสูตร รีโนเวทเป็นก่อน งบไม่บาน คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top