ทำไม คอนเทนต์เพจทำอาหารถึงทำให้เราชวนหิวตลอดเลย?

เป็นเหมือนกันไหม? นั่งไถ Facebook ไปเรื่อย ๆ เห็นภาพหรือคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำอาหารแล้วรู้สึกอยากกิน รู้สึกหิว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งกินข้าวไปเอง ยังไม่ทันย่อยหมดก็เริ่มกลับมารู้สึกหิวอีกแล้ว

จากงานการศึกษาโดย Max Planck Society ทีมงานรีเสิร์ชจากเยอรมันบอกกับเราว่า การเห็นภาพอาหารหรือคลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหาร มันจะทำให้เราหิวเองโดยธรรมชาติ มันเกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนที่ชื่อว่าเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาเมื่อเราเห็นภาพที่เป็นสิ่งเร้า และจะส่งสัญญาณขึ้นไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิว เมื่อเราเห็นภาพหรือคลิปวิดีโอเกี่ยวกับอาหารแล้วทำให้เกิดอาการหิว ฮอร์โมนเกรลินจะหลั่งเข้าเส้นเลือด และทำให้เราเกิดอาการอยากอาหาร

เราลองมองในมุมมองของคนที่อยากสร้างตัวตนให้กลายเป็นสื่อทางด้านอาหาร เมื่อภาพหรือคลิปวิดีโอที่เกี่ยวกับอาหารมันมากระตุ้นฮอร์โมนเกรลิน มันเลยกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลยที่จะสร้างฐานผู้ติดตาม แต่มันก็ไม่ง่ายเสมอไป เมื่อเราไม่สามารถควบคุมความชอบหรือฮอร์โมนของใครได้ สิ่งที่ผู้อยากสร้างตัวตนให้กลายเป็นสื่อต้องมี คือความ creative มีความหลากหลาย มีทักษะการทำเสนอที่ดีและน่าสนใจกว่าคนอื่น…จนได้มาเจอกับเพจ กินข้าวกัน by แม่อ้อ

กินข้าวกัน by แม่อ้อ

เพจ กินข้าวกัน by แม่อ้อ หรือในชื่อเพจปัจจุบันคือ "กินข้าวกัน" เริ่มจากอะไร?

บางคน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเตรียมการ เตรียมแผนไว้อย่างดี บางคนก็จะเป็นแนวจับไปเรื่อย ๆ หาทางที่ใช่ ลองทำไปก่อน หาสิ่งที่ใกล้ตัวทำแล้วมีความสุขกับมัน

เริ่มต้นจากการที่แม่อ้อเป็นคนที่รักการทำอาหาร เมื่อคนในบ้านหรือใครก็ตามที่มีโอกาสได้ชิมอาหารของแม่อ้อ เสียงตอบรับก็มักจะออกมาในทำนอง “อร่อย” ทุกครั้ง แม่อ้อและสามี ทำงานอยู่ในบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ของตัวเอง แม่อ้อเป็นโปรดิวเซอร์ สามีเป็นผู้กำกับ แน่นอนว่าเมื่อทำงานโปรดักชั่นแล้ว ทักษะในการถ่ายทำ การตัดต่อ การทำให้ออกมาดูมืออาชีพได้นั้นต้องมีมากกว่าใคร และมันก็เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่เพจ ”กินข้าวกัน” มี ด้วยความที่ว่าที่บ้านไม่ได้มีอุปกรณ์ในการถ่ายทำ แม่อ้อเลยลองทำคลิปวิดีโอขึ้นมาวิดีโอแรกโดยใช้กล้องของลูกตัวเอง ตั้งโต๊ะถ่ายนอกบ้าน เมนูที่ถ่ายนั้นเป็นเมนูที่แม่อ้อจำขึ้นใจ เมนูนั้นคือ “ผัดฉ่าทะเล” ซึ่งเป็นเมนูโปรดของครอบครัว เริ่มแรก แม่อ้อยังไม่เปิดเพจแต่ก็อยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับการทำอาหารกลุ่มหนึ่ง แม่อ้อเลยลองโพสต์ในกลุ่มนั้นดูก่อน ด้วยความใส่ใจในการทำอาหารและการถ่ายโดยสามีพร้อมกับการตัดต่อที่เรียบง่าย เข้าใจทุกขั้นตอน ซึ่งในไทยก็ยังไม่ค่อยจะมีสไตล์การตัดต่อแบบนี้สักเท่าไหร่ เมื่อลงโพสต์ไปได้แค่วันเดียว มีคนกดไลค์ในกลุ่มถึง 2 หมื่นคน จากนั้นมา คนในกลุ่มก็มีแต่คนเรียกร้องให้แม่อ้อเปิดเพจ เสียงเชียร์นี้เลยทำให้แม่อ้อตัดสินใจเปิดเพจ “กินข้าวกัน”

สนใจหนังสือ คลิก

สไตล์ที่โดดเด่น ทำให้เพจกินข้าวกัน by แม่อ้อ ดูน่าสนใจ

ด้วยความที่คุณอ้อนั้นเรียกตัวเองว่า “แม่อ้อ” แต่ไม่ใช่ว่าแม่อ้อจะเป็นคนมีอายุ จริง ๆ แล้วแม่อ้อที่เรียกกันนี้ เป็นแม่อ้อที่อายุเพิ่งจะ 30 ต้น ๆ เท่านั้น เหตุผลที่แท้จริงที่เรียกว่าแม่อ้อ คือคาแรกเตอร์ที่เป็นคาแรกเตอร์สไตล์ Mama Cooking แบบแม่สอนลูกทำอาหาร เน้นการบอกต่อ ส่งต่อสูตรต่าง ๆ โดยสูตรการทำอาหารทุกเมนูก็มาจากความ creative ของแม่อ้อเองล้วน ๆ และที่มาของชื่อเพจก็เป็นอะไรที่จำง่ายในสไตล์ไทย ๆ เมื่อคำว่า “กินข้าวกัน” เป็นการทักทายอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีความหวือหวาหรือแหวกแนวอะไร แต่เมื่อเราสามารถเชื่อมต่อกับผู้ติดตามได้มากขึ้น การได้เห็นชื่อเพจ “กินข้าวกัน” เด้งขึ้นมาหน้า feed แล้ว มันเหมือนกับว่าคุณอ้อกำลังทักทายเราและชวนเราไปกินข้าวยังไงยังงั้น

เทคนิคในการเอาชนะใจคนของเพจ “กินข้าวกัน” คือความใส่ใจในตัวของคอนเทนต์ที่พัฒนามาตลอดตั้งแต่เริ่มทำคลิปผัดฉ่าทะเล ไม่ว่าจะเป็นการถ่าย การเพิ่มแสง การเพิ่มมุมกล้องที่หลากหลายมากขึ้น การตัดต่อที่ฉับคม มีอาร์ตเวิร์ค มีเทคนิคเพิ่มเติมให้ดูน่าสนใจมากขึ้น แม่อ้อและสามีศึกษาโมเดลการทำวิดีโอจากต่างประเทศ และนำมาดัดแปลงให้เป็นสไตล์ของตัวเอง และตั้งแต่ขั้นตอน Pre Production – Production – Post Production ทุกขั้นตอนเป็นขั้นตอนที่สำคัญหมดและต้องใส่ใจกับมันให้สุดทาง แต่ทุกอย่างจะไม่สำเร็จเลย ถ้าแม่อ้อแค่โพสต์คลิปวิดีโอหรือรูปภาพแล้วจบแค่นั้น

สนใจหนังสือ คลิก

จุดเด่นของเพจกินข้าวกัน คือความใส่ใจ

ช่องทางเพจนั้น เป็นช่องทางที่ทำให้ตัว creator และผู้ติดตามสามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้ และแม่อ้อก็สื่อสารกับผู้ติดตามตลอด แม่อ้อเคยบอกว่า เขารู้สึกอบอุ่นเสมอเมื่อเห็นแฟนเพจมาคอมเมนต์ และแม่อ้อก็จะเฝ้าดูตลอดและคอยตอบคำถามทันทีเมื่อมีใครสงสัยอะไรสักอย่าง ทั้งเรื่องดีเทลวัตถุดิบ เทคนิค การปรุง แม้กระทั่งอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีคนถามเข้ามาเหมือนกัน และนี่คือตัวอย่างของการสร้าง Loyalty ที่ดีต่อกันทั้งตัว creator และผู้ติดตาม ทำให้การทำเพจ เหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิต ที่มีคนรอบข้างคอยคุยกับเราเสมอเหมือนกับเป็นครอบครัวหนึ่งเลย

หลายคนเห็นงานโปรดักชั่นที่ดูดี มีชั้นเชิงแบบนี้ เราก็อาจคิดไปได้ว่า คงมีทีมอยู่เบื้องหลังหลายคน คงไม่ได้ทำคนเดียวหรอก…จริง ๆ แล้ว เบื้องหลังของผู้ทำคอนเทนต์ลงเพจนี้ คือครอบครัวของแม่อ้อเอง ทั้งตัวแม่อ้อ สามีและลูกสาวต่างช่วยกันให้เพจมีทุกวันนี้ได้ แม่อ้อทำอาหาร สามีจะเป็นคนถ่ายและตัดต่อ ลูกสาวจะคอยเข้ามาช่วยถ้าน้องว่าง

เมื่อผู้ติดตามเยอะขึ้น คนกดไลค์เพจเยอะขึ้น คนเห็นก็จะเยอะขึ้นไปด้วย และด้วยความที่คนเห็นเยอะ ยังไง สปอนเซอร์ก็ต้องมาเห็นเพจ และเพจ “กินข้าวกัน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.7 ล้านคน แน่นอนว่าต้องมีโฆษณาสินค้าจากแบรนด์ต่าง ๆ ให้เราเห็นแน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญเมื่อเราทำเพจคือ “ตัวตน” หรือ “Identity” ของความเป็นตัวเอง เพราะฉะนั้น สปอนเซอร์ที่จะเข้ามาลงโฆษณา จะต้องไม่ทำลายความเป็นเพจ “กินข้าวกัน” ต้องเป็นเจ้าที่สามารถเข้ากับธีมของเพจได้เป็นอย่างดี และแม่อ้อก็เคยบอก ว่าต้องคัดเลือกมากกว่า 60 เจ้า เพราะไม่อยากเสียตัวตนของเพจไป

ความใส่ใจ โปรดักชั่น การตัดต่อ ความ creative การมี identity ที่ชัดเจน และสุดท้าย การสร้าง Loyalty ทุกสิ่งล้วนสำคัญหมด และความครบถ้วนนี้ ก็เป็นที่มาของความสำเร็จของเพจ “กินข้าวกัน” โดยแม่อ้อและครอบครัว ที่มีคนกดไลค์เพจในปัจจุบันมากกว่า 3.1 ล้านไลค์ และผู้ติดตามกว่า 3.7 ล้านคน

และโฆษณาเหล่านี้ คือโฆษณาที่มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับอาหารมากมาย ซึ่งเข้ากับคอนเทนต์และธีมของเพจได้อย่างลงตัว เหมาะเจาะเลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง : 

https://www.facebook.com/kinkaokan

https://bit.ly/41FsGT8

https://bit.ly/41tk6GQ

https://bit.ly/3kpn52B

https://bit.ly/3ZsUkRn

https://bit.ly/3Zkjnqd

สนใจหนังสือคู่มือเขียน Content คลิก
สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top