กรณีที่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่จะได้จากการประมูลทรัพย์บังคับคดี

วลีเด็ดที่ฟังดูคุ้นหูอย่างคำพูดที่ว่า “แล้วฉันล่ะ?” คงเป็นความรู้สึกที่เรียกได้ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออกเลยทีเดียวซึ่งหากเลือกได้คงไม่มีใครที่อยากจะตกเข้าไปอยู่ท่ามกลางความรู้สึกและคำถามในเชิงนี้สักเท่าไหร่หรอกว่าไหม ส่วนหนึ่งคงจะเหมือนกับการถูกทิ้งไว้กลางทางหรือถูกมองข้ามไปอย่างไร้เหตุผลโดยคนที่ยังอยู่ก็ต้องกลับมาถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า “แล้วฉันล่ะ? ไม่ต่างกับคนจนมุมที่ยังหาทางออกและคำตอบให้ตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าใครก็ไม่อยากถูกมองข้ามหรอกจริงไหม?

แต่เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้เสียเมื่อไหร่กัน

แม้แต่การลงทุนก็ยังต้องพบเจอเรื่องเหล่านี้ได้ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือมีที่มาที่ไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ที่จะพาคุณไปเจอกับความรู้สึกที่ว่า “แล้วฉันล่ะ?” ได้ก็คือกรณีที่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดหลังจากที่ได้ทำการซื้อ ทรัพย์จากกรมบังคับคดี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเราเองก็ จ่ายค่าใช้จ่ายหลังการประมูล ไปแล้วด้วย

การเพิกถอนการขายทอดตลาด
สนใจหนังสือ คลิก

การเพิกถอนการขายทอดตลาด เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าการขายทอดตลาดเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการบังคับคดีดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มักจะมีสถานการณ์ที่นำไปสู่การเพิกถอนการขายทอดตลาดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุหลัก ๆ อย่างการส่งประกาศขายให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้แต่การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพย์มีความเห็นว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ประมูลได้นั้นมีมูลค่าการซื้อขายต่ำเกินไปก็สามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้เช่นเดียวกัน

มาถึงตรงนี้คนที่ประมูลทรัพย์ได้แล้วคงจะเริ่มนั่งไม่ติดเพราะกลัวว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นจะถูกดึงกลับด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดและผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์สามารถขอขยายเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือออกไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดเรื่องเพิกถอนการขายได้ โดยผู้ซื้อจะต้องวางเงินมัดจำไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อได้ แต่หากศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่เพิกถอนการขายทอดตลาดผู้ซื้อจะต้องชำระราคาส่วนที่เหลือภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด

หากต้องโอนกรรมสิทธิ์คืน ค่าธรรมเนียมในการโอนและภาษีจะขอคืนจากใคร?

ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะชนะการประมูลและทำการโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อจะต้องส่งคืนต้นฉบับโฉนดและหนังสือสัญญาจำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและรับเงินค่าซื้อทรัพย์คืน พร้อมกับความรับผิดชอบต่อการชำระค่าธรรมเนียมในการโอนด้วยซึ่งผู้ซื้อจะไม่สามารถขอคืนค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีได้เนื่องจากในวันที่ผู้ซื้อมาขอรับหนังสือโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ได้แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้วว่าคดีอาจมีการร้องคัดค้านการขายจนเป็นเหตุให้ต้องมีการเพิกถอนการขาย ผู้ซื้อต้องเป็นผู้ดำเนินการโอนทรัพย์กลับคืนมาโดยเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด (หากมี)” และมีการได้ให้ผู้ซื้อรับทราบและลงลายมือชื่อไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนี้หมายความว่าผู้ซื้อจะไม่ดำเนินการเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่มาจากการซ่อมแซมทรัพย์ หรือค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด หรือแม้แต่การนำทรัพย์ที่ซื้อไปจดจำนองและต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์จะต้องไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองและรับภาระในอัตราดอกเบี้ยจำนองเพื่อกลับคืนสู่สถานะเดิมตามคำสั่งศาล โดยไม่ได้รับการเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายเช่นเดียวกัน

เห็นไหมล่ะว่าสถานการณ์นี้เองที่จะนำไปสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันล่ะ?” เพราะกรรมสิทธิ์จะกลับคืนสู่จำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ส่วนตัวสินทรัพย์ก็จะกลับเข้าสู่การบังคับคดีดีตามกฎหมายดังเดิม โดยที่ฝั่งผู้ซื้อนอกจากจะไม่ได้ทรัพย์อย่างที่ตั้งใจไว้แล้วยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนถึงสองรอบโดยที่ทรัพย์นั้นไม่ได้เป็นของตัวเองเลยนอกจากค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเพราะท้ายที่สุดแล้วทั้งเจ้าหนี้อย่างสถาบันการเงินเองและจำเลยต่างก็ต้องการหาช่องทางและวิธีการที่จะทำให้การชำระหนี้สินที่คงค้างอยู่นั้นจบลงอย่างรวดเร็วและเหมาะสมที่สุดสำหรับทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งการขายทอดตลาดก็ยังคงเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ที่พาไปสู่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอมา

สนใจหนังสือ คลิก
สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top