พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเติบโตมาเป็นคนฉลาด การเรียนดี เป็นคนมีความสามารถ และเด็กก็กลายเป็นความหวังของพ่อแม่ หวังว่าลูกจะเลี้ยงดูเราได้เมื่อเวลานั้นมาถึง ความหวังที่ว่า ก็เหมือนกับการที่มองว่าลูกตัวเองเป็นสมบัติที่จะทำให้อนาคตสบาย
ความหวังนั้น ก็ทำให้ลืมไปเลยว่าแท้จริงแล้ว เราควรจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้รู้จักตัวเอง ให้กลายเป็นคนที่มีคุณภาพ และเติบโตได้ในสังคมที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบของดอกกุหลาบ และความหวังนั้น ก็กลายเป็นความกดดันสำหรับเด็ก พ่อแม่บางคนกดดันลูกจนไม่รู้จักตัวตน ตีลูกจนเป็นบาดแผลทางกายและใจ บั่นทอนลูกตัวเองจนความรู้สึก ความสัมพันธ์หม่นหมอง ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเด็ก ที่สร้างโดยพ่อแม่ จนบางคนเติบโตไปเป็นวัยรุ่นที่มีปมทางความคิด และไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข เพราะฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรทำคืออะไร? แล้วทำไมเราถึงไม่ควรมองลูกตัวเองเป็นสมบัติ? ขอพาไปรู้จักกับเพจ ๆ หนึ่ง อย่างเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน หมอโอ๋ ผศ.พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร
เพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ก่อตั้งโดย ผศ.พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หมอโอ๋เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น และได้เปิดโครงผลิตแพทย์ประจำบ้าน เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์วัยรุ่นโดยเฉพาะ
เวชศาสตร์วัยรุ่นจะโฟกัสเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นอายุราว 10-24 ปี โดยดูแลปัญหาของวัยรุ่นทั้งเรื่องของสุขภาพทั่วไป รวมไปถึงปัญหาด้านพฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งปกติจะรักษาทั้งเด็กและพ่อแม่ เพราะวัยรุ่นบางคนอาจมีปัญหาจริง ๆ ทั้งโรคซึมเศร้า สมาธิไม่ดี แต่หลายรายที่คุณหมอเจอ ก็จะเน้นไปที่การแนะนำของพ่อแม่ เพราะวัยรุ่นถือว่าเป็นผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกโดยพ่อแม่ ซึ่งปัญหาหลายอย่างที่เด็กเป็นก็มาจากความสัมพันธ์หรือการเลี้ยงลูกที่ใช้พลังลบมากกว่าพลังบวกในการเลี้ยงดู ไปปรับที่ตัวพ่อแม่ก็จะทำให้ลูกดีขึ้นด้วย
จากการเรียนและการทำงานของหมอโอ๋ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมเด็ก ๆ ถึงดูสดใส มีชีวิตชีวา แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำไมถึงมีวัยรุ่นหลายคนเกิดปัญหา ทั้งการไม่มีความฝัน ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร หลายคนก้าวร้าวมากขึ้น บางคนเป็นโรคซึมเศร้า รู้สึกไร้ตัวตน ทำไมเด็กที่มีแววตาลุกโชน มีความฝัน มีความอยากใช้ชีวิตถึงได้กลายเป็นวัยรุ่นที่มีแววตาเหนื่อยล้า ไร้ฝัน คำถามนั้นเกิดขึ้นมาในหัวของหมอโอ๋ ทำให้หมอโอ๋เริ่มศึกษาการเลี้ยงดูเด็กมากขึ้น และได้ไปรู้จักกับ “Positive Parenting” หรือการ “เลี้ยงลูกเชิงบวก” ซึ่งค่อนข้างที่จะตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดูลูกแบบคนไทย
เพราะการเลี้ยงลูกเชิงบวกจะเน้นไปที่วิทยาศาสตร์สมองและการวิเคราะห์ และการพูดเชิงบวกถึงทำให้เกิดการพัฒนาในสมองเด็กได้ดีกว่า ซึ่งคนไทยใช้การเลี้ยงลูกเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ อย่างการตีเด็กด้วยความรุนแรง ใช้อารมณ์กับเด็ก ทำให้เด็ก สมองจะวิ่งลงข้างล่างและใช้สัญชาตญาณแทน เช่น ถ้าแม่ตีเด็ก ลูกก็อาจสู้กลับและจะทำให้เด็กก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง และสู้ด้วยความดื้อ ไม่เชื่อฟัง อีกแบบหนึ่งคือการหนี เกิดจากความกลัว ถ้าโดนครูตีบ่อย ๆ เด็กจะหนี กลัว ไม่อยากไปโรงเรียนและจะเกิดความรู้สึกวิตกกังวลในภายหลัง กลัวง่าย รู้สึกไม่มีศักยภาพ แบบสุดท้ายที่เห็นบ่อยที่สุด คือเด็กที่ยอม พอโตไปแล้วจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เทียบใครไม่ได้ หรือง่าย ๆ คือโตอย่างผู้แพ้ และจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์ของการเลี้ยงดูลูกแบบเชิงลบ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเด็กเลยสักนิด ต่างจากการเลี้ยงลูกเชิงบวกอย่างสิ้นเชิง ที่ใช้เหตุผล ใช้ความเข้าใจของตัวพ่อแม่เอง ส่งต่อไปยังลูกให้ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเหตุผลของทุกอย่างที่เกิดขึ้น อธิบายง่าย ๆ คือการตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น มากกว่าการลงโทษลูกตัวเอง การเลี้ยงลูกเชิงบวกจึงเป็นเหมือนกับภารกิจอย่างหนึ่งที่หมอโอ๋อยากส่งต่อให้พ่อแม่ได้รู้จัก หมอโอ๋จึงสร้างเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ขึ้นมา เพื่อส่งต่อความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกเชิงบวก รวมไปถึงวิธีการต่าง ๆ ในการเลี้ยงดูลูกทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ลูกได้เติบโตกลายเป็นคนที่มีคุณภาพ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่แข็งแรง สามารถเติบโตและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา และลบความเชื่อที่ว่า ลูกคือสมบัติของพ่อแม่
ที่มาที่ไปของชื่อเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” มาจากการที่บ้านนั้น เป็นพื้นที่ปลอดภัย การเลี้ยงลูกนอกบ้านจึงเป็นการพาลูกออกพื้นที่ปลอดภัย นั่นคือการเรียนรู้ และคำว่าเลี้ยงลูกนอกบ้านก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้เลี้ยงลูกเฉพาะในบ้านของเรา เราทุกคนควรมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงลูกของคนในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน เป้าหมายคือการสร้างสังคมที่ช่วยกันเลี้ยงลูกให้เติบโตแบบเชิงบวก
นอกจากเนื้อหาคอนเทนต์จะเป็นการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว หมอโอ๋ยังจัดกิจกรรมกับผู้ติดตามเพจด้วยอย่าง “เลี้ยงลูกนอกบ้านออนทัวร์” ด้วย ที่จะพาเด็ก ๆ ออกไปเดินทางเพื่อให้เด็กได้รู้จักกับความแตกต่างที่มีอยู่ทุกก้าว ได้รู้จักกับคนรอบตัวที่ไม่เหมือนเรา และโลกความจริงมันกว้างกว่าที่เด็ก ๆ คิด
นอกจากเรื่องพ่อแม่ลูกแล้ว หมอโอ๋ยังทำให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยอีกด้วย และด้วยความที่ปัจจุบันนี้ ก็เริ่มมีคนใส่ใจกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าแต่ก่อน เรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่คุณหมอโอ๋เล่าในเพจ บวกกับข่าวสารที่ทำให้เราได้เห็นปัญหาการเติบโตของเด็กไปจนถึงช่วงวัยหนึ่ง ทั้งปัญหาด้านการศึกษาและความเหลื่อมล้ำ ที่เข้าไม่ถึงเด็กและปัญหาจากระบบการศึกษาที่มองได้ว่าเดินสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น หมอโอ๋ก็เป็นเสียง ๆ หนึ่งที่พูดถึงปัญหาเหล่านั้น ทำให้คนในสังคมตื่นตัวมากขึ้น และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป เด็กเข้าใจสิทธิของตัวเอง เข้าใจความแตกต่าง เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น การสร้างเด็กให้เติบโตไปเป็น Global Citizen จึงเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่พ่อแม่หลายคนควรนำทางให้กับลูก ๆ ของตัวเอง
นอกจากนี้ หมอโอ๋ยังมีผลงานหนังสือ 2 เล่มด้วยกัน “เลี้ยงบวก ลูกบวก” และ “Growth Mindset Journal บันทึกวิธีคิด เพื่อการเติบโต (เขียนร่วมกับคุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์)”
อ้างอิงจาก :
https://bit.ly/3jNDqx2
https://bit.ly/3IgivNx
https://bit.ly/3WXAWdV
https://www.facebook.com/takekidswithus
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=W0I_BQeCTHw&ab_channel=THESTANDARD