แนวทางการแบ่งงวดงานตาม BOQ สำหรับงานบ้าน

จะทำยังไงไม่ให้จ่ายเงินเกินงาน และไม่จ่ายงานเกินเงิน

มีใครบ้างล่ะที่อยากจะทำงานเกินเงินค่าจ้าง หรือมีใครที่อยากจะจ้างด้วยเงินที่เกินผลงาน แน่นอนว่าแทบจะไม่มีเพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่ไหนก็ตาม แต่ทว่าบางครั้งในวงการของ ผู้รับเหมา ก็มักจะเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือลูกค้าแบบที่ไม่คาดฝันอยู่บ่อย ๆ แล้วคนเหล่านั้นก็มักจะพาไปเจอกับเรื่องแปลก ๆ ที่ไม่อยากจะทำเสียเลยเพราะรู้ว่าต่อให้ทำไปแล้วต้องลำบากแน่ ๆ อย่างเช่นว่า…

ลูกค้าเป็นคนแบ่งงวดงานให้ผู้รับเหมา โดยแบ่งงวดแรกให้เงินน้อย ๆ แล้วไปเยอะงวดท้าย ๆ

แบ่งงวดงาน

เจองวดงานโหดแบบนี้ต่อให้เป็นผู้รับเหมาที่เก่งแค่ไหนสุดท้ายก็คงใส่เกียร์หมาวิ่งหนีกันเป็นแถบแน่ ๆ เพราะรู้ว่าทำไปก็ไม่จบ เผลอ ๆ อาจจะเจ็บกันทั้งสองฝ่ายเพราะคนทำงานก็ทำไม่ได้เพราะเงินทุนไม่พอ ไหนจะค่าแรงค่าวัสดุ ส่วนเจ้าของบ้านก็ไม่ได้งานไปตาม ๆ กัน ฉะนั้นทางที่ดีจึงควรจะทำให้งวดงานมีความสัมพันธ์กับต้นทุนที่ต้องใช้ตามรายละเอียดในหน้างานจริงมากกว่า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้การแบ่งงวดตามแบบ BOQ แบบละเอียดมากกว่าการแบ่งงวดงานแบบหยาบนั่นเอง

แล้วการแบ่งงวดงานแบบละเอียดจะต้องแบ่งแบบไหน?

โดยปกติแล้วใบ Cover ที่แปะหน้า BOQ จะมีแยกเพียงแค่ 4 หมวด โดยอ้างอิงจาก BOQ ของงานบ้านซึ่งจะไม่มีการซอยเปอร์เซ็นต์แยกงวดงานเอาไว้ว่าจะมีอัตราค่าใช้จ่ายต่องานอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แต่จะสามารถคำนวณได้จากการนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดใน BOQ มาแยกเป็นหมวดหมู่ย่อย แล้วนำตัวเลขเหล่านั้นมาคิดเป็นสัดส่วนที่เป็นเปอร์เซ็นต์ของแต่ละงวดงานอีกที ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอัตราการแบ่งงวดงานจะมีดังนี้

  • งานโครงสร้าง 30-35%
  • งานสถาปัตยกรรม 45-50%
  • งานระบบอื่น ๆ 20%

โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย…

งานโครงสร้าง

  • งานเสาเข็มตอก
  • งานโครงสร้างฐานราก เสา ตอม่อ คานขั้นล่าง
  • งานโครงสร้างพื้นชั้นล่าง เสาชั้นล่าง
  • งานโครงสร้างคานและพื้นชั้น 2 งานบันได
  • งานโครงสร้างเสาชั้น 2
สนใจหนังสือ คลิก

งานสถาปัตยกรรม

  • งานก่อผนังชั้น 1 งานโครงสร้างหลังคาและมุงหลังคา
  • งานก่อผนังชั้น 2
  • งานฉาบผนังภายใน งานฉาบผนังภายนอก
  • งานปรับระดับพื้นที่มีการปูพื้นไม้ลามิเนต
  • งานปูกระเบื้องห้องน้ำ
  • งานฝ้าภายนอก งานติดตั้งฝ้าเพดาน
  • งานประตูหน้าต่าง งานทาสีรองพื้น ทาสีจริง
  • งานตกแต่งพื้นผิวบันได

งานระบบไฟฟ้า

  • รางไฟและท่อร้อยสายไฟ
  • งานตู้ไฟ
  • งานติดตั้งดวงโคม สวิตช์ ปลั๊ก

งานระบบสุขาภิบาล

  • ระบบประปา ระบายน้ำโสโครก น้ำเสีย ระบายน้ำฝนของตัวบ้าน
  • ระบบระบายน้ำทิ้งรอบอาคาร
สนใจหนังสือ คลิก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการแบ่งงวดงานก็คือหนึ่งในวิธีการที่ใช้แบ่งงานแต่ละงวดที่กับต้นทุนให้มีความสมดุลกันมากที่สุด เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัดหรือมีภาระงานช่วงใดช่วงหนึ่งหนักจนเกินไป ซึ่งสามารถแบ่งหมวดหมู่โดยการเอางานที่มีต้องทำด้วยกันหรือมีเนื้องานที่ใกล้เคียงกันมาเป็นงวดเดียวกัน และต้องพิจารณาด้วยว่างวดงานเหล่านั้นจะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป และแน่นอนว่างวดงานก็มีผลต่อเงินที่ต้องจ่ายเช่นกันเพราะหากงวดงานเล็กก็จ่ายเงินน้อย แต่ถ้างวดงานใหญ่ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงตามขึ้นไปด้วย

หรือหากเป็นการแบ่งงวดงานสำหรับงานรีโนเวทก็อาจจะมีการแบ่งงวดงานตามหน้างานจริง ยกตัวอย่างเช่น งานหลังคาที่เป็นงานเล็กอาจจะถูกรวมไปพร้อม ๆ กับซ่อมแซมผนังชั้น 2 ก็ได้ เนื่องจากเป็นงานเล็กและมีพื้นที่ที่ติดต่อกัน ดังนั้นการเบิกเงินค่างวดงานจึงถูกจัดอยู่ในงวดงานเดียวกันได้ เป็นต้น

ทั้งนี้การแบ่งเปอร์เซ็นต์หรือตัวเลขสำหรับงวดงานก็ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องเป็นแบบเดียวกันเสมอไป เพราะบ้านแต่ละหลังก็มีความแตกต่างและมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันอีกหลายต่อหลายอย่าง แต่จุดประสงค์หลัก ๆ ก็คือการแบ่งงวดงานเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับทั้งผู้รับเหมาและเจ้าของบ้านในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากจนเกินไป และยังทำให้รู้ว่างวดงานไหนที่ต้องเสียเงินเยอะ งวดงานไหนที่จะจ่ายเงินน้อย ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นการแบ่งงวดงานเยอะไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งจ่ายทีละงวดงานเสมอไป แต่สามารถทำได้ทีละหลายงวดงานแล้วเบิกทีเดียวก็ได้เช่นกัน

สนใจหลักสูตรยื่นกู้ให้ลูกค้า คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top