เคยตั้งข้อสงสัยไหมว่า...ทำไมเตรียมตัวมาดีแต่ดันกู้แบงก์ไม่ผ่าน

เชื่อว่าก่อนที่จะเดินหน้าเข้าไปขอกู้สินเชื่อธนาคารไม่ว่าจะเพื่อการลงทุนหรือเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หนึ่งในความกังวลใจของใครหลาย ๆ คนคงไม่พ้นเรื่องที่ว่า…ธนาคารจะดูอะไรบ้าง? แน่ล่ะว่าเมื่อไม่มั่นใจก็มักจะเตรียมตัวมากขึ้น เตรียมเอกสารต่าง ๆ แน่นขึ้น แต่ทว่าน่าเสียดายที่ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าการขอสินเชื่อในครั้งนั้นไม่ได้รับการอนุมัติเสียอย่างนั้น หรือที่เราเรียกว่า “กู้ไม่ผ่าน” นั่นเอง
 
เมื่อหันกลับมามองก็ไม่แน่ใจว่าพลาดที่ตรงไหนกันแน่ จะว่าเป็นเรื่องของการเดินบัญชีก็เหมือนจะไม่ใช่เพราะก่อนหน้านั้นก็เตรียมตัวมาดิบดี แต่ถ้าจะบอกว่าเครดิตทางการเงินไม่ดีก็มีทั้งงานประจำและการชำระหนี้ก็กลับมาเป็นปกติแล้ว
 
พอเป็นแบบนี้ต้นสายปลายเหตุจะมาจากตรงไหนกันล่ะ?
เมื่อลองย้อนกลับมามองในมุมของสถาบันการเงินที่อยู่ในสถานะของผู้ปล่อยกู้ การให้สินเชื่อไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจหรือเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยต่างก็ต้องแลกกับเงินก้อนใหญ่ที่จะถูกส่งต่อให้กับลูกค้าของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นเงินก้อนใหญ่ก็ต้องมาพร้อมกับเงื่อนไขและข้อกำหนดที่มากขึ้น การพิจารณาก็จะมีความยุ่งยากและหลายขั้นตอนจนในบางครั้งก็เรียกได้ว่าธนาคารมองลึกไปมากกว่าที่เราคิดเสียด้วยซ้ำ ยิ่งกับลูกหนี้ที่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ก็ยิ่งต้องพิจารณามากเป็นพิเศษ
 
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ตัวผู้ขอสินเชื่อเองก็ต้องกลับมาทำการบ้านอีกครั้งว่าคุณสมบัติอะไรบ้างที่ตัวเองมักจะมองข้ามอยู่บ่อย ๆ แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษ หรือปัจจัยข้อไหนที่มักจะพลาดกันอยู่ประจำ ซึ่งหลัก ๆ แล้วก็มีวิธีตรวจเช็กง่าย ๆ ด้วยหลักการ 5C ได้แก่…

อุปนิสัยของลูกค้า (CHARACTER)

เมื่อพูดถึงอุปนิสัย แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินไม่มีทางรู้แน่ ๆ ว่าลูกค้าคนไหนเป็นคนนิสัยอย่างไร แต่สิ่งที่พวกเขาจะรู้และมักจะมองก่อนเป็นอันดับแรกก็คือประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อว่ามีมากน้อยแค่ไหนเพื่อประกอบการพิจารณาการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือสินเชื่ออื่น ๆ ที่มีวงเงินสูง ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุปนิสัยในการใช้จ่ายเงินของลูกค้าเองก็มีส่วนด้วยเช่นกัน เรียกง่าย ๆ ว่าธนาคารจะดูประวัติทางการเงินของลูกค้าก็คงไม่ผิด ซึ่งนิสัยพื้นฐานประเภทนี้จะสามารถเป็นข้อมูลสะท้อนถึงความสามารถในการจัดการทางธุรกิจและพฤติกรรมทางด้านการเงินนั่นเอง
 
ข้อต่อมาคือ…
สนใจหนังสือ คลิก

เงินทุน (CAPITAL)

สำหรับการขอสินเชื่อเพื่อต่อยอดกิจการ สิ่งที่ธนาคารจะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เป็นทรัพย์สินเดิมของลูกค้าหรือเงินลงทุนเริ่มต้นกิจการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะถูกโต้แย้งได้ว่า…ถ้ามีเงินอยู่แล้วจะไปขอกู้ธนาคารทำไม ซึ่งก็ไม่ใช่คำถามที่สามารถบอกได้ว่าผิดหรือถูกเสียทีเดียวแต่ในช่วงเวลาที่เจ้าของธุรกิจมีกิจการอยู่แล้วแต่ต้องการที่จะกู้เงินเพื่อต่อยอดกิจการของตัวเอง หรือเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ธนาคารก็มองว่ากิจการจะต้องมีเงินลงทุนส่วนตัวมาลงในกิจการด้วยเพื่อแสดงถึงความมั่นคงในกิจการ ไม่ใช่ทุนที่ลงในกิจการมีจากหนี้เป็นส่วนมาก และที่มากไปกว่านั้นก็ควรมีสัดส่วนเงินทุนกับหนี้สินที่เหมาะสมด้วย
 
และเมื่อมีเงินทุน สิ่งที่จะตามมาติด ๆ ก็คือ…

ความสามารถในการชำระหนี้ (CAPACITY)

เมื่อธนาคารคิดที่จะปล่อยเงินสักก้อนให้กับลูกค้า สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดอยู่เสมอก็คือเงินที่จะถูกชำระคืนเป็นงวด ๆ จนกว่าจะครบวงเงินที่ลูกค้าได้ทำการยื่นขอมา อาจจะเรียกว่านี่คือหัวใจหลักของธุรกิจด้านสถาบันการเงินและการปล่อยสินเชื่อเลยก็ว่าได้เพราะหากมีแค่เงินที่ปล่อยกู้ออกไปแต่แทบจะไม่มีเงินก้อนกลับมา เงินที่หมุนอยู่ในระบบคงเกิดปัญหาขึ้นแน่ ๆ โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินที่ไม่ได้มีลูกค้าอยู่แค่คนเดียว ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าธนาคารจะพิจารณาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้า โดยเฉพาะการบริหารยอดขาย การบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย ที่จะบอกว่าลูกค้าคนดังกล่าวนี้จะมีทุนมากน้อยแค่ไหนในการผ่อนชำระหนี้กับธนาคาร ซึ่งนอกจากนี้แล้วความสามารถในการชำระหนี้ก็ยังถือว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อการพิจารณาวงเงินสินเชื่อว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ หรือจะได้รับวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติจำนวนเท่าไหร่ด้วยเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารพิจารณาแล้วว่าลูกค้าอาจมีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อ แต่แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นสิ่งที่จะช่วยค้ำประกันในกรณีที่ลูกค้าไม่มีเงินผ่อนชำระหนี้ต่อ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ…
สนใจหนังสือ คลิก

หลักประกัน (COLLATERALS)

จริงอยู่ที่ว่าการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือการขอสินเชื่อส่วนบุคคลบางประเภทอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักประกันเพื่อประกอบการขอสินเชื่อเลยด้วยซ้ำ แต่ในบางกรณีที่ลูกค้าต้องการขอสินเชื่อที่ต้องใช้วงเงินสูง ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้หลักประกันในรูปแบบของทรัพย์สินหรือทรัพย์อื่น ๆ เช่น บ้าน รถ หรือที่ดิน เพราะในมุมของธนาคารเองก็ต้องการหลักทรัพย์เพื่อจะมาคุ้มครองสินเชื่อให้มีมูลค่าที่คุ้มค่ากับวงเงินสินเชื่อที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีที่ลูกค้ามีการผิดนัดชำระ ธนาคารก็ยังสามารถนำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปขายทอดตลาดได้

ทั้งนี้ในปัจจุบันทางภาครัฐหรือบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ยังมีมาตราการช่วยค้ำประกันกลุ่มธุรกิจ SME ที่ไม่มีหลักประกันเพื่อให้กลุ่มธุรกิจ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (สินเชื่อ) ได้ง่ายขึ้นด้วย

 
สุดท้ายสิ่งที่ธนาคารจะไม่มองเลยก็คงไม่ได้ นั่นก็คือ…

เงื่อนไข (CONDITION)

แม้แต่ธนาคารเองก็ยังเอากฎเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งไว้มาเป็นหนึ่งในประเด้นหลักในการพิจารณาสินเชื่อของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์การใช้วงเงิน, เงื่อนไขในการเบิกรับเงินสินเชื่อ, เงื่อนไขการผ่อนชำระ และระยะเวลาในการผ่อนชำระ โดยเหตุผลที่ธนาคารจะต้องตั้งเงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นมาก็เป็นเพราะว่าธนาคารต้องการให้ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อใช้เงินได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อมากที่สุด หรือบางกรณีธนาคารอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขก่อนการอนุมัติ เช่น เพิ่มทุนกิจการกรณีที่ส่วนทุนติดลบ ซึ่งวิธีนี้ก็เพื่อเลี่ยงปัญหาของการขอสินเชื่อไปแล้วแต่กลายเป็นว่าเงินไม่สามารถนำไปต่อเงินได้หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นหนี้เสีย ไม่ว่าจะมาจากการลงทุนที่ค่าตอบแทนไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก หรือมาจากการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ก็ตาม
 
ทั้งนี้การรู้ข้อกำหนดของธนาคารก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รู้ดีอยู่แล้ว เรื่องที่เพิ่งจะรู้ หรือเรื่องที่รู้แต่มองข้ามมาตลอด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็เหมือนกับเช็กลิสต์ง่าย ๆ ที่ช่วยให้เจ้าของกิจการหรือนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการขอสินเชื่อได้ประเมินตัวเองในเบื้องต้นก่อนว่ามีคุณสมบัติในข้อใดบ้างที่ยังถือว่าเป็นข้อด้อย หรือข้อไหนบ้างที่ยังต้องเพิ่มจุดแข็งมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม วลีเด็ดที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ก็ยังคงใช้ได้ดีเสมอโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จะต้องมีการต่อรองเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ
 
จากเคล็ดลับ 5C รู้เรื่องนี้อาจไม่ทำให้ได้เปรียบ แต่ทว่าก็คงไม่ทำให้เสียเปรียบเช่นกันเพราะอย่างน้อย ๆ จุดด้อยก็ถูกอุดรอยรั่วไว้หมดแล้ว และผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวที่ทุกคนต้องการจากเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นการได้เอาชนะใจแบงก์อย่างแน่นอน
 
 
หลักสูตรภาษีอสังหาริมทรัพย์ คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top