กว่าจะมาเป็นอาจารย์อดัม แบรดชอว์

ก่อนจะเป็นอาจารย์อดัม ก็เป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งที่ชื่อว่าอดัม แบรดชอว์ (Adam Bradshaw) ที่ชีวิตค่อนข้างวนเวียน ไม่รู้ว่าตัวเองอยากมีอาชีพอะไร ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดอย่างไร อนาคตจะมีครอบครัวหรือเปล่า มีความรู้สึกแค่อยากจะเป็นคนเท่ เด็กแนวแบบวัยรุ่นอเมริกันทั่วไป ความแนวที่ว่า ก็เป็นชีวิตที่อยากผจญภัย ไม่อยากที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่ไปตลอดชีวิต อดัมเลยออกจากบ้านไปอยู่แคลิฟอร์เนียจนเงินหมด แต่ความแนวที่ว่าก็ไม่แน่วแน่กับจิตใจ จนสุดท้าย อดัมกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่ยูทาห์เช่นเดิม แต่การกลับมายูทาห์ในครั้งนี้ ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของอดัม แบรดชอว์…

อดัม แบรดชอว์

ก้าวแรกของอดัม แบรดชอว์ในประเทศไทยกับการค้นพบตัวตนของตัวเอง

ยูทาห์ เป็นรัฐหนึ่ง ที่คนกว่า 51% ที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้ เข้าโบสถ์คริสต์ทุกอาทิตย์ จนได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่เคร่งศาสนาที่สุดในสหรัฐอเมริกา และนั่น ก็เป็นที่มา ที่พ่อของเขาแนะนำว่าให้ไปทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการนักบวชหลากหลายประเทศ ด้วยความที่อดัมยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยต่อไหม อดัมเลยลองสมัครโครงการนักบวชนี้ โดยที่ทางโครงการไม่ให้อดัมเลือก ว่าจะเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศไหน

เมื่อจดหมายจากโครงการส่งมาที่บ้านของอดัม อดัมเปิดอ่าน และได้รับรู้ว่าตัวเองจะได้ไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศไทย…หลังจากที่มาไทย และรับรู้ว่าภาษาไทยยาก อดัมก็ฝึกภาษาไทยอย่างสุดความสามารถ โดยใช้สโลแกนประจำใจ ว่า Learn from and laugh at your mistakes เรียนรู้และหัวเราะไปกับความผิดพลาดของตัวเอง ระหว่างการมีทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร อดัมก็ออกตระเวนสอนภาษาอังกฤษฟรี จนสุดท้ายเขาก็ได้พบ ว่างานสอนเป็นสิ่งที่เขาชอบมาก และมันก็สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวอดัมเองอยากเป็นครู แต่เมื่อภารกิจการเป็นอาสาสมัครจบลง อดัมก็ต้องบินกลับมาอยู่รัฐยูทาห์เช่นเดิม…

สนใจหนังสือ คลิก

ชาวต่างชาติคนหนึ่งที่หลงรักประเทศไทยจนหมดหัวใจ

เมื่อกลับมา อดัมก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ แต่อดัมก็แอบรู้สึกว่า การที่เขาตั้งใจเรียนภาษาไทยมากกว่า 2 ปีจนสามารถอ่านออก เขียนได้ พูดได้นั้น จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่า อดัมเลยพยายามมองหาโอกาสทุกครั้งที่จะกลับไปยังประเทศไทย อดัมพยายามทำงานเป็นเซลแมนทั้ง ๆ ที่ตัวเองเกลียดงานแบบนั้น แต่ใจเขาก็อยู่ที่ประเทศไทยไปซะแล้ว และโอกาสก็มาในที่สุด มหาวิทยาลัยที่อดัมเรียนอยู่มีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนไปยังประเทศไทย อดัมไม่ลังเลที่จะสมัคร ผลสุดท้าย เขาทำได้ ได้กลับมาอยู่ในประเทศที่เขารักในที่สุดอย่างที่อดัมชอบ เขาชอบในการสอน การเป็นวิทยากรให้กับเด็ก ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การกลับมาครั้งนี้ อดัมทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มสูบ

อดัมมองเห็นโอกาสผ่านทาง YouTube เขาเลยทำคลิปลงยูทูปตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน และเริ่มมีคนไทยหลายคนสนใจในตัวอดัมมากขึ้น พร้อมกับมีศักยภาพที่เพียบพร้อมในการเป็นครูสอนภาษาที่ประเทศไทย เมื่อสถานการณ์เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนหมดลง อดัมก็กลับไปรับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบ้านเกิดยูทาห์ หลังจากนั้น อดัมก็กลับมาประเทศไทย แต่สุดท้าย เขาก็ยังไม่แน่ใจ ว่าตัวเองจะทำอะไรกันแน่…และ Google ก็กำลังจะเปิดออฟฟิศที่ประเทศไทยด้วย

ก้าวแรกของการประสบความสำเร็จ คือการปฏิเสธ Google

อดัมสมัครงานกับ Google ไป สัมภาษณ์ผ่านมาสองรอบจนถึงครั้งที่สาม การสัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ในระหว่างนั้น อดัมกำลังจะขึ้นเวทีเพื่อบรรยายการเรียนภาษาอังกฤษจากที่มีคนเคยดีลไว้กับอดัม อดัมรับสายจาก Google และบอกกับ Google ว่า “I’m not interested, thank you for the opportunity.” “ผมไม่สนใจแล้วครับ ขอบคุณสำหรับโอกาสที่ให้มาครับ” และการปฏิเสธนั้น ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของอดัม ที่เลือกเดินสายการเป็นครูสอนภาษา แทนที่จะเป็นพนักงานออฟฟิศให้กับ Google และนั่น ก็เป็นที่มาของชื่อ “อาจารย์อดัม” อดัมก็เริ่มทำงานสายบรรยาย สายวิทยากร สายสอนภาษามาเรื่อย ระยะเวลาผ่านไปบวกกับความสู้ของอาจารย์อดัม ก็เริ่มมีคนติดตาม มีแฟนคลับ ได้ไปออกรายการหลายรายการเพื่อสอนภาษาอังกฤษและมีรายการที่ตัวเองเป็นพิธีกรสอนภาษาหลากหลายรายการ

อย่าง The Breakdown ที่เป็นรายการทอล์คโชว์ 2 ภาษา โดยในรายการ จะคอยตอบคำถามคาใจเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ คำนี้พูดอย่างไร คำนี้ในภาษาอังกฤษพูดอย่างไร สำเนียงแต่ละสำเนียงแตกต่างกันอย่างไร อาจารย์อดัมพร้อมตอบคำถามให้กับทุกคนอย่างตรงและถี่ถ้วน ทำให้เรากล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยที่รายการนี้ เริ่มออนแอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ทางช่อง Voice TV

อีกรายการที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมคือรายการ Talking Thailand เป็นรายการที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเล่าข่าว แสดงความคิดเห็น โดยการอธิบายศัพท์และแสลงต่าง ๆ ในการเล่าเรื่อง ทำให้เราเขาใจศัพท์ยาก ๆ คลอไปกับการสนธนาเป็นภาษาอังกฤษกับแขกรับเชิญหลากหลายคน รายการนี้ออนแอร์ทางช่อง Voice TV ปัจจุบัน อาจารย์อดัมก็ได้ออกมาจากรายการนั้นแล้ว และกลายเป็นรายการคุยการเมืองเต็มรูปแบบแทน

English สะกิดต่อมฮา ที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมกับคุณพล่ากุ้ง เป็นรายการสาระภาษาอังกฤษที่ปนตลกไปในตัว เข้าถึงผู้คนหลากหลายวัย ที่ทางรายการมีทั้งแขกชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาร่วมรายการ ออนแอร์ทางช่อง 8 ปัจจุบัน รายการได้ยุติลงไปแล้ว

อาจารย์อดัมยังได้ออกสอนภาษาอังกฤษในรายการเรื่องเล่าเช้านี้เป็นเวลาสั้น ๆ อีกด้วยก่อน 6 โมงเช้าอีกด้วย โดยเนื้อหาก็มาจากเรื่องไวรัลในทุก ๆ วัน การได้นำมาเป็นคอนเทนต์การสอนภาษา จึงเข้ากับธีมรายการเป็นอย่างดี

สุดท้าย เขาได้ทำหนังสือ “พูดภาษาอังกฤษแบบชัดเว่อร์” กับ “เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ พูดภาษาอังกฤษได้เป๊ะเว่อร์” ที่จะช่วยสอนให้เราเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่องานที่ดีขึ้น เพื่อเงินที่ดีขึ้น และชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอ่านออก ฟัง เขียนได้อย่างเข้าใจและมั่นใจ ที่ยิ่งเหมือนเจ้าของภาษาเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี

ปัจจุบัน อาจารย์อดัมได้โฟกัสกับการทำคอนเทนต์ตัวเองผ่านช่อง YouTube และเพจ Facebook แต่ก็ยังไปเป็นพิธีกรรายการบ้างเป็นครั้งคราว

อย่างรายการ “Netflix อังกฤษติดจอ” ที่เป็นคอนเทนต์ออนไลน์ สอนภาษาอังกฤษผ่านซีรีส์ ภาพยนตร์ใน Netflix โดยนำเอาสถานการณ์ในหนังหรือซีรีส์ Original Netflix มาสอนและแปลแสลงหรือศัพท์ยาก ๆ บางคำให้เราได้เข้าใจ

สนใจหนังสือ คลิก

อะไรที่ทำให้ Content ของอาจารย์อดัม แบรดชอว์ โดดเด่นขึ้นมา?

เหตุผลอะไร ทำให้อาจารย์อดัม โดดเด่นกว่าครูสอนภาษาอังกฤษคนอื่น ๆ? เพราะไม่มีใครให้ความสำคัญกับ “เคล็ดลับความสำเร็จ” อาจารย์อดัมเคยพูดไว้ ว่า “การจะเก่งภาษาได้ต้องใช้เวลา ต้องดิ้นรน และต้องหงุดหงิดกับความไม่ได้ดั่งใจของตัวเอง มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราจะพูดผิด เขียนผิด ฟังผิด อ่านผิด และเราจะไม่มีทางเข้าใจภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ได้เกิดมาด้วยการใช้ภาษานั้นมาก่อน การเรียนภาษาใหม่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ต้องทำคือหัวเราะกับความผิดพลาดของตัวเอง อย่าไปเครียดกับมันมาก แล้ววันหนึ่งจะสำเร็จเอง” การเข้าใจ การดิ้นรน การสู้ การยอมรับความผิดพลาด และเน้นการพูดมากกว่าท่องไวยากรณ์ จึงเป็นสูตรสำเร็จที่จะทำให้เราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่า คนที่เคร่งเครียดกับมัน ว่าเราต้องเก่งแบบ 100% มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ คนที่เรียนมันอย่างสนุกสนาน สบาย ๆ ไม่คาดหวังว่าจะต้องเป๊ะแบบ 100% คนแบบนี้จะสนุกกับการพูดภาษาอังกฤษและประสบความสำเร็จมากกว่า และการเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว มันจะทำให้การพูดภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องไม่สนุก

การได้เห็นภาษาอังกฤษทุกวัน เป็นตัวช่วยในการพัฒนาภาษาที่ดี เพราะสมองเราจะสั่งการให้จำได้ง่ายขึ้น หากเราเห็นอะไรซ้ำ ๆ บ่อย ๆ สร้าง Long – term memory (ความทรงจำระยะยาว) ทำให้สิ่งที่เราเรียนรู้นั้น เติบโตได้ง่ายขึ้น

และการลงคอนเทนต์วันละครั้ง คำศัพท์ทั้งแบบข้อความ ภาพและวิดีโอในแบบของอาจารย์อดัมนั้น การได้เห็นทุกวันเลยเป็นสิ่งที่น่าจดจำ

จริงอยู่ ที่ผู้ติดตามกว่า 2.6 ล้านคนของอาจารย์อดัมในเพจ Facebook มาจากฐานชื่อเสียงการสอนที่ปั้นมาอย่างยาวนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าการออกมาทำเองแบบอาจารย์อดัม เรื่องคอนเทนต์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุดอยู่เช่นเคย ทั้ง Reels ที่นำสถานการณ์แต่ละสถานการณ์มานำเสนอเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างน่าสนใจ การนำสถานการณ์ เหตุการณ์ ข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมาวิเคราะห์ บรรยาย และนำเสนอคำศัพท์ที่หลายคนไม่รู้หรือไม่เข้าใจ

อ้างอิงจาก : 

https://www.facebook.com/AjarnAdamBradshaw

https://www.aksorn.com/adam-bradshaw?fbclid=IwAR0WOCa6ofVw02FYnlqcHbm71FJ_F6E8uvkpUvpFcyxEo2BECXUX1C9XeLo

https://www.bangkokpost.com/learning/advanced/1291330/ajarn-adam-on-himself-and-my-mate-nate?fbclid=IwAR2YIY-hUZ5ZdfV1MD7izFoYaKHNxoQldMbTJsUXxzH2z_K-LnWzbUdhpjU

https://www.washingtonpost.com/blogs/govbeat/wp/2015/02/18/map-the-most-religious-states-in-america/?fbclid=IwAR2pCrqx6xZnNbFWOs0puUgD6xUW-3dbYDNKqKDfQgAzDoCMeNO7JWQJr5U

thestandard.co

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/AjarnAdamBradshaw/photos

สนใจหนังสือคู่มือเขียน Content คลิก
สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top