3 เทคนิคการประมูลบ้าน กรมบังคับคดี ที่นักลงทุนประมูลบ้านต้องรู้

อย่าให้คำว่า “เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้” นำประสู่การประมูลบ้านจนกระเป๋าแหก

เดิมทีแล้วก็คงไม่ใช่เรื่องที่ยากสักเท่าไหร่สำหรับการเลือกทรัพย์ที่ตรงใจมากที่สุดจากเว็บไซต์แล้วลงไปดูสภาพทรัพย์จริงเพื่อตีราคาถึงความคุ้มได้คุ้มเสีย ซึ่งจุดประสงค์ก็อย่างที่บอกไปว่าเพื่อที่จะตีราคา ค่าใช้จ่าย ของตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับเงินในกระเป๋าอีกในภายหลัง 

ในบางครั้งบ้านบางหลังที่ลงประกาศขายไว้ด้วยราคาถูก ๆ บนเว็บไซต์กับสภาพบ้านจริงแตกต่างกันราวกับเป็นบ้านคนละหลัง แต่เมื่อตัดสินใจที่จะซื้อบ้านหลังดังกล่าวด้วยราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้แล้วก็คงไม่พลาดอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อเจอสภาพบ้านจริงแล้วจึงนำไปสู่ขั้นตอนของการตีค่าใช้จ่าย แน่ล่ะว่าคงไม่ได้จบอยู่ที่มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ ณ กรมบังคับคดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกนำไปบวกรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ อีก ทั้งค่าโอน ค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าใช้จ่ายก้อนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการทำบ้านมือสองนั่นก็คือค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซม

ก่อนการประมูลไม่ว่าใครก็มีราคาค่าใช้จ่ายที่อยู่ในใจมาแล้วทั้งนั้น แต่ทว่าเมื่อเข้าประมูลจริง ๆ กลับพบว่าตัวเองกำลังตกหลุมพลางให้กับความกระหายชัยชนะจากการประมูลเข้าเต็ม ๆ ในช่วงเวลาของการแข่งขันในใจคงจะกู่ร้องอย่างเต็มที่ว่า “เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้” เพราะทรัพย์ที่ควรจะเป็นของตัวเองกำลังถูกคนอื่นเสนอราคาเพื่อเข้าซื้อเช่นเดียวกัน

เทคนิคการประมูลบ้าน กรมบังคับคดี

สุดท้ายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ…จากกรอบค่าใช้จ่ายที่วางไว้เองกับมือก็ถูกฉีกทิ้งอย่างไม่เป็นท่า

ฉะนั้นแล้วเรื่องสำคัญในการประมูลที่ไม่ควรถูกมองข้ามพอ ๆ กับการกดเครื่องคิดเลขคำนวณค่าใช้จ่ายก็คือความรู้สึกที่อยู่ในใจของคนที่กำลังประมูลอยู่นั่นเอง และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรสู้และเมื่อไหร่ที่ควรพอ เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้องพบเจอกับผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยสวยอย่างที่วาดไว้ก็ได้

แล้วจะทำยังไงเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก… และนี่คือ 3 เทคนิคการประมูลบ้าน กรมบังคับคดี ประมูลยังไงไม่ให้กระเป๋าฉีก

สนใจหนังสือ คลิก

1. เริ่มจากการเสนอราคาไม่ให้เกินตัว

ใครล่ะจะรู้ดีไปกว่าเราว่าเงินในกระเป๋ามีอยู่เท่าไหร่ และเช่นเดียวกัน คงไม่มีใครที่จะไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกินประมาณมากแค่ไหนที่จะทำให้ตัวเองเดือดร้อน ดังนั้นอันดับแรกก่อนที่จะตัดสินใจใส่ราคาประมูลไปแบบไม่ยั้งอยากให้กลับมามองที่ตัวเลขที่ได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่ม ทั้งงบประมาณ ราคาบ้านที่อยากจะซื้อ ประมาณการค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ผลกำไรที่ต้องการ เพราะไม่แน่ว่าบางทีมันอาจจะเป็นตัวช่วยชั้นดีในการดึงสติก่อนการเสนอราคาทุกรอบก็ได้ 

สนใจหนังสือ คลิก

2. เชื่อราคาที่อยู่ในใจ ถ้าเกินเมื่อไหร่ต้องหยุดทันที

เชื่อว่าใคร ๆ ต่างก็ต้องการให้สิ่งที่คาดหวังไว้กับความเป็นจริงเป็นไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้วโดยเฉพาะกับเรื่องของการลงทุนที่ไม่มีใครอยากให้หลุดแผนเลยแม้แต่นิดเดียวเพราะนั่นอาจไม่ใช่เพียงแค่การก้าวขาผิดแต่อาจเป็นความผิดพลาดที่นำมาซึ่งการเสียทรัพย์มากกว่าที่ควรจะเสียอย่างไร้เหตุผลก็ว่าได้ ฉะนั้นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่างบประมาณสำหรับการซื้อทรัพย์เข้าในตอนแรกอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่และสามารถเพิ่มหรือลดลงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนอกจากความยืดหยุ่นของค่าใช้จ่ายในส่วนของราคาประมูลแล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมที่ต้องเผื่อลบเผื่อขาดไว้เช่นเดียวกัน

3. ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเสียเที่ยว ได้เงินมัดจำคืนยังดีกว่าเสียตังค์เพิ่ม

บางคนมักจะมีความเชื่อที่ว่าอย่างน้อยเมื่อไปแล้วก็ต้องได้ทรัพย์ติดมือกลับบ้านมาด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหากมีความคิดในทางนี้ก็มักจะสู้ราคาแบบสุดใจเพื่อไม่ให้การมาเข้าร่วมการประมูลในครั้งนั้นต้องเสียเปล่า แต่ทว่าหากเกินราคาที่ตัวเองกำหนดไว้แล้วการกลับบ้านพร้อมกับทรัพย์ที่ราคาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นเรื่องที่ดีแล้วจริง ๆ น่ะเหรอ… จากที่จะเสียเพียงแค่เวลาแต่ได้เงินมัดจำคืนก็กลายเป็นว่าผู้ประมูลได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่บนความไม่แน่นอนของการลงทุนเข้าให้แล้ว ราคาบ้านสูงแล้วจะทำยังไงเพื่อไม่ให้งบประมาณเกินกว่าที่ตั้งไว้ล่ะ 

ลดผลกำไรที่คาดหวังเลยดีไหม?  

แย่ล่ะเพราะกำไรมันเรื่องใหญ่เลยนะ

แต่ถ้าบอกว่าเป็นการลดค่าซ่อมแซมปรับปรุงบ้านแล้วล่ะก็คงต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามอีกรอบว่าสามารถยอมรับได้มากแค่ไหนสำหรับบ้านที่อาจไม่ได้คุณภาพตามที่วางไว้ หรือหากต้องการที่จะคงไว้ซึ่งคุณภาพก็เท่ากับว่าต้องควักเงินในกระเป๋าใส่เข้าไปอีก เอาล่ะ…จากการลงทุนที่อยู่ในกรอบก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ได้อีกต่อไปเพราะไม่มีใครที่จะรู้หรือสามารถบอกได้ล่วงหน้าเลยว่าบ้านที่ประมูลมาจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน

ความเสี่ยงไม่ได้มีเพียงแค่สาเหตุจากการขายบ้านไม่ออก ไม่ได้มีแค่เรื่องของการขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ทุก ๆ อย่างที่หลุดแผนก็ถูกรวมเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นด้วย บางคนอาจจะคิดเพียงแค่ว่าทำการตลาดให้เก่งก็สามารถปิดทางความเสี่ยงจากบ้านติดดอยได้แล้ว แต่เดี๋ยวก่อน… อย่าลืมสิว่าเมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ต้องขายบ้านในราคาที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่มีใครอยากขายในราคาเท่าทุนหรอกจริงไหม ซึ่งเมื่อบวกลบกำไรเข้าไปแล้วก็อาจจะกลายเป็นว่าต้องขายบ้านในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม ถึงตอนนั้นลองย้อนกลับมาถามตัวเองดูอีกทีว่าจะยังมีใครที่อยากซื้อบ้านในราคาแพง ๆ อยู่ไหม

สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top