เมื่อเจอสิ่งของที่ถูกใจ อะไรคือสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก โดยเฉพาะทรัพย์ที่ถูกใจจาก การประมูลทรัพย์บังคับคดี
คงจะเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ง่ายมากทีเดียวเมื่อพูดถึงการซื้อขายซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องเกิดขึ้นในทุก ๆ วันไม่ว่าอย่างใดก็อย่างหนึ่ง และแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกต้องเป็นการก้มลงไปมองป้ายราคาก่อนเป็นอันดับแรกซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อ
แล้วหลังจากนั้นล่ะ?
ก็คงเป็นการควักกระเป๋าสตางค์ออกมาเพื่อดูความสามารถในการซื้อกับมูลค่าของสินค้าที่เล็งไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามความก้ำกึ่งระหว่างความรู้สึกที่ว่าควรจะหยิบลงในตะกร้าหรือนำกลับไปวางไว้บนเชลฟ์เหมือนเดิมก็เริ่มจากการตัดสินใจในช่วงเวลานี้เองเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนก็มักจะมองว่า “แพงก็ไม่ซื้อ” ซึ่งถือเป็นกลไกปกติในทฤษฎีการตัดสินใจซื้อของลูกค้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มาพร้อมกับการแนวคิดที่ว่า “ถึงราคาแพงก็จะซื้อ” แม้ว่าในสถานการณ์ตอนนั้นเงินในกระเป๋าอาจจะยังมีไม่พอเสียด้วยซ้ำแต่เขากลับไม่ได้ตัดสินใจปฏิเสธในทันทีว่าจะไม่ซื้อ แต่เป็นการซื้ออย่างแน่นอนเพียงแค่ว่ายังไม่ใช่ตอนนี้เท่านั้นเอง
จะทำอย่างไรเมื่อของที่อยากได้มีมูลค่าสูงกว่าเงินในกระเป๋า คำถามที่คนหลายคนรู้คำตอบแต่ก็ไม่ค่อยอยากจะตอบสักเท่าไหร่
ถ้าเป็นสิ่งของที่ชอบเสียอย่างคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะขอใช้คำว่า “หยิบยืม” ทั้งการหยิบยืมจากเงินเก็บของตัวเองหรือหยิบยืมจากคนรอบข้างเพื่อนำมาซื้อก่อน แน่ล่ะ…วิธีนี้คือความง่ายดายที่สุดในการได้ครอบครองสิ่งของที่ต้องการโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันที่จำนวนเงินในกระเป๋ามีมากพอเท่ากับมูลค่าสินค้า ซึ่งวิธีการเดียวกันนี้ก็ยังใช้ได้แม้กระทั่งกับการซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาก ๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ด้วยการกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
จะมีสักกี่คนที่พร้อมจะซื้อบ้านหนึ่งหลังด้วยเงินสดทั้งหมดในคราวเดียว บางครั้งมูลค่าของบ้านที่อยากได้ก็อาจจะกำลังสวนทางกับกระแสเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าก็ได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นขีดจำกัดว่าความว่าความสามารถในการซื้อของคนที่ต้องการบ้านสักหลังจะไม่ได้ไปต่อเพียงเพราะว่าเขามีเงินไม่มากพอเพราะสิ่งที่แสดงถึงความสามารถในการซื้อบ้านอย่างแท้จริงอีกหนึ่งอย่างก็คือเครดิตในการยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านด้วยต่างหาก
แต่ใครล่ะจะให้ยืมเงินง่าย ๆ
ยิ่งมูลค่าของสินทรัพย์สูงความเสี่ยงทางการเงินก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเป็นธรรมดา ต่อให้มีตัวเลขเสร็จสรรพที่อยู่ในใจเพื่อทำการขอกู้แต่ใครล่ะจะยื่นเงินก้อนใหญ่ให้อย่างง่ายดาย เพราะถ้าเปลี่ยนให้คุณเป็นคนที่ปล่อยสินเชื่อก็คงไม่ได้วางใจง่าย ๆ หรอกจริงไหม ด้วยเหตุนี้และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงทั้งฝ่ายของสถาบันการเงินและผู้ยื่นขอสินเชื่อจึงเป็นที่มาของการขอยื่นพรีแอพพรูฟ เพื่อตรวจสอบความสามารถทางการเงินด้วยเครดิตเบื้องต้นก่อนการยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านนั่นเอง
สำหรับการพรีแอพพรูฟสินเชื่อบ้านถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือหนึ่งในขั้นตอนของสถาบันการเงินที่จะทำการประเมินสถานภาพทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้เบื้องต้น โดยพิจารณาจากราคาการซื้อขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขอยื่นสินเชื่อได้แจ้งไว้ รวมถึงรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และเครดิตความน่าเชื่อถือจากประวัติการชำระหนี้ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะเครดิตบูโรที่จะแสดงสถานะการชำระหนี้สินของลูกค้าว่ามีการชำระหนี้ครบถ้วนตรงตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้คือเหตุผลหลักที่จะบอกได้ว่าลูกค้าจะสามารถนำเครดิตของตัวเองไปเปลี่ยนเป็นตัวเงินเพื่อซื้อบ้านได้หรือไม่ หรือจะได้รับสินเชื่อในอัตราเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสถานะทางการเงินของลูกค้า
การขอพรีแอพพรูฟ นอกจากจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการยื่นขอสินเชื่อได้ทราบถึงความสามารถในการกู้ของตัวเองแล้ว อีกหนึ่งข้อที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้นั่นก็คือการนำมาประกอบการตัดสินใจสำหรับการเลือกซื้อทรัพย์ได้ง่ายขึ้นภายใต้วงเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดและเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการขอวงเงินสินเชื่อและการเลือกธนาคารที่จะยื่นขอสินเชื่อในอนาคตเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนที่ยื่นผ่านก็ต้องมีคนที่กลับไปพร้อมกับความผิดหวังเช่นเดียวกัน อาจจะด้วยข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ภาระหนี้สินเดิม ติดเครดิตบูโร หรือความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่เพียงพอ แต่หากมองในแง่ดีสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนที่ต้องการขอสินเชื่อนั้นยังมีข้อบกพร่องในด้านใดบ้าง ซึ่งหากความสามารถในการผ่อนชำระหนี้สินยังไม่เพียงพอก็สามารถหาคนกู้ร่วมเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และเป็นผลดีต่อการอนุมัติวงเงินกู้ในอัตราที่สูงขึ้นได้อีกด้วย ถือเป็นการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาไปในตัว