จบปัญหาเทค่ามัดจำด้วยการขอเพิ่ม-ลดชื่อผู้ซื้อทรัพย์ก่อนการประมูล

อะไรคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเทเงินมัดจำจากการประมูลทรัพย์บังคับคดี

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ราคาต่ำกว่าตลาดก็มักจะมองหาแหล่งที่มาของทรัพย์ที่มีความหลากหลายและได้รับการันตีว่ามีราคาต่ำกว่าตลาดจริง บ้างก็เป็นทรัพย์จากธนาคารที่รอการขายในรูปแบบของทรัพย์ NPA บ้างก็เป็นทรัพย์ที่ขายโดยเจ้าของที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน และที่ได้ยินชื่อบ่อย ๆ หรือพอที่จะคุ้นหูมาบ้างเพราะด้วยชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นแหล่งที่มาของทรัพย์คุณภาพดี ราคาถูก ก็คงไม่พ้น ทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

เพิ่มชื่อ ประมูลทรัพย์บังคับคดี
สนใจหนังสือ คลิก

แต่ทว่าการประมูลก็มักจะนำมาซึ่งการแข่งขันของกลุ่มคนที่ต้องการทรัพย์เดียวกันเป็นจำนวนมาก บางคนก็ได้ทรัพย์กลับบ้านอย่างที่หวัง ในขณะที่บางคนก็ต้องหอบความผิดหวังกลับไปตัวเปล่า แต่ใครล่ะที่ไปแล้วจะอยากเสียเที่ยว ดังนั้นเมื่อเจอทรัพย์ที่หมายตาไว้แล้วก็คงไม่พลาดที่จะเข้าไปยกป้ายแข่งราคาเพื่อหวังที่จะคว้าทรัพย์นั้นมาให้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความอยากเอาชนะก็มาพร้อม ๆ กับความหลงลืมว่าราคาที่ประมูลได้นั้นเกินงบที่ตั้งไว้แล้ว

เงินไม่พอจ่ายแล้วทำอย่างไรล่ะ?

คงจะเป็นคำถามโลกแตกโดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนก็คงไม่มีใครที่จะหยิบยื่นให้ง่าย ๆ และเมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารก็พบว่าวงเงินที่ได้มานั้นน้อยกว่ามูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ประมูลได้เสียอีก หรืออยากจะยกทรัพย์ที่ว่านั้นให้คนอื่นมาทำการซื้อขายแทนก็ไม่ได้อีกเพราะข้อจำกัดที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า… ”คนประมูลทรัพย์กับคนที่ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ต้องเป็นคนคนเดียวกัน”

เอาล่ะ…เมื่อความกดดันพามาถึงจุดนี้แล้วจะทำอย่างไรได้นอกเสียจาก…

เทเงินมัดจำไปเลยน่ะสิ!

นี่คงจะเป็นความในใจของใครหลาย ๆ คนที่นำไปสู่การทิ้งเงินจำนวนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดายเพราะพวกเขาต่างก็รู้ดีว่าไม่มีวี่แววที่จะสามารถซื้อทรัพย์ได้ด้วยมูลค่าเต็มจำนวนอย่างแน่นอน

แต่การเทเงินมัดจำคือทางออกที่ดีแล้วจริง ๆ น่ะเหรอ?

รู้หรือไม่ว่าการเทเงินมัดจำเพียงหนึ่งครั้งอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิดหากคุณคือคนที่ต้องการเข้ามาประมูลทรัพย์ขายทอดตลาด ณ กรมบังคับคดีอีกครั้ง เพราะหลายต่อหลายคนที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่คุ้ม” หรืออาจจะต้องวางหลักประกันที่มากกว่าเดิมในการประมูลครั้งถัดไปเสียด้วยซ้ำ ซึ่งวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาด้วยการทิ้งเงินมัดจำก็คือ…ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรก

เริ่มจากการเพิ่มหรือลดชื่อคนที่ผู้ซื้อทรัพย์ก่อนเข้าประมูล

ตาม ขั้นตอนของการประมูลทรัพย์กรมบังคับคดี ก่อนเริ่มการประมูลผู้เข้าเสนอราคามีหน้าที่ที่จะต้องทำการตรวจสอบรายชื่อให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงพิจารณาถึงความสามารถในการชำระราคาของตนเองว่ามีมากพอที่จะซื้อทรัพย์ที่ต้องการประมูลได้หรือไม่ หากต้องการกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินควรทำการสอบถามคุณสมบัติของตนเองได้จากสถาบันการเงินก่อน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่าขั้นตอนการ Pre-Approve เนื่องจากหากประมูลซื้อทรัพย์ได้แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เพิ่ม หรือลดชื่อผู้ซื้อในภายหลังได้

ส่วนในอีกกรณีคือผู้ซื้อทรัพย์และผู้เข้าประมูลเสนอราคาไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันก็ได้ โดยอาศัยเงื่อนไขของ…

สนใจหนังสือ คลิก

การมอบอำนาจให้เข้าซื้อทรัพย์

แม้ว่าคนที่ต้องการทรัพย์จริง ๆ จะไม่ได้เข้าร่วมการประมูลซื้อทรัพย์ด้วยตนเองแต่สามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลอื่นได้ และตนเองมีหน้าที่ความรับผิดชอบแค่วันที่ทำสัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น โดยผู้เข้าเสนอราคาจะต้องยื่นหนังสือมอบอำนาจที่มีการเซ็นรับรองเรียบร้อยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนการเข้าซื้อทรัพย์ หากไม่มีหนังสือมอบอำนาจจะถือว่าผู้เข้าเสนอราคาในครั้งนั้นได้ทำการซื้อทรัพย์ในนามของตนเอง

เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีใครที่จะอยากทิ้งเงินมัดจำก้อนใหญ่ของตัวเองไปโดยเปล่าประโยชน์หรือต้องเสียเครดิตเพียงเพราะคำว่า “เงินไม่พอ” หรอกจริงไหม นักลงทุนทรัพย์มือสองบางคนอาจจะมีแผนการปรับปรุงบ้านที่อยู่ในใจแล้วด้วยซ้ำนั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงเลือกที่จะเสนอราคาต่อทั้งที่มูลค่าดีดขึ้นสูงเรื่อย ๆ เกินกว่าที่ประมาณการไว้ในตอนต้น และมันจะดีแค่ไหนหากการเพิ่มและลดชื่อของผู้ซื้อกลายมาเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะช่วยให้คนที่ต้องการทรัพย์จริง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องทิ้งเงินมัดจำจำนวนหนึ่งของตนเองไปโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้เป็นเจ้าของทรัพย์มากขึ้นไปในเวลาเดียวกัน

สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top