ทำไมการซื้อขายทรัพย์ทอดตลาดต้องมีการปั่นราคา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบังคับคดีคืออะไร?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่าการ ประมูลทรัพย์บังคับคดี ยังมีคนที่ต้องการปั่นราคาเพื่อให้ทรัพย์ที่นำมาขายทอดตลาดนั้นได้ราคาที่สูงขึ้น หรือในบางครั้งแม้จะได้ทรัพย์มาในราคาที่ถูกจนสามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำแต่ก็ไม่วายถูกเบรคด้วยคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังค้านอย่างหัวชนฝาว่าต้องการให้ทำการยกเลิกการขายเนื่องจากราคาต่ำเกินไป

แล้วกลุ่มคนที่ว่าคือใครกันล่ะ?

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดผ่านกรมบังคับคดีคงไม่มีการซื้อขายเพียงแค่สองฝ่ายระหว่างผู้เข้าร่วมการประมูลกับเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีอย่างแน่นอนเพราะหลักประกันที่ก่อนจะตกมาเป็นทรัพย์ขายทอดตลาดนั้นต่างก็เคยมีเจ้าของซึ่งอยู่ในสถานะของลูกหนี้ และเมื่อมีลูกหนี้ก็คงจะขาดเจ้าหนี้จำนองไปไม่ได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกลุ่มเจ้าหนี้ก็มักจะมาในรูปแบบของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่ออย่างธนาคารพาณิชย์ที่คุ้นเคยกันนั่นเอง

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบังคับคดี
สนใจหนังสือ คลิก

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบังคับคดี มีใครบ้าง?

คนกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ถูกบังคับคดี ในทางกฎหมายแล้วมีการระบุไว้ ดังนี้

  • เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
  • ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
  • ผู้มีบุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์ที่ขาย เช่น ผู้รับจำนอง
  • ผู้ร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
  • ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ที่ขาย

 

โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการนำทรัพย์ที่เป็นหลักประกันการจำนองมาขายทอดตลาด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีหน้าที่ในการมาแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและดูแลการขายทอดตลาดในทุกครั้งที่มีการขาย หากไม่สามารถดูแลการขายได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดูแลการขายได้ รวมถึงการใช้สิทธิเข้าสู้ราคาและหาผู้เข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ตามราคาที่ตนต้องการก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นกัน

สนใจหนังสือ คลิก

ทำไมถึงต้องมีการปั่นราคาทั้งที่สุดท้ายแล้วอาจจะทำให้ขายไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ถ้าคุณกำลังตั้งข้อสงสัย อาจจะด้วยประสบการณ์ที่เคยชวดทรัพย์ที่อยากได้มาแล้วหรือเห็นการประมูลที่ถูกดึงราคาขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ให้ลองนึกภาพตามสถานการณ์ดังต่อไปนี้

หากบ้านหลังหนึ่งที่กำลังประมูลมีราคาเริ่มต้นที่ 500,000 บาท แต่มูลหนี้ของลูกหนี้คือ 1,000,000 บาท ถ้าราคาประมูลจบที่ 1,200,000 อาจจะเป็นทางรอดของลูกหนี้ก็ว่าได้เพราะนอกจากจะได้ปิดหนี้แล้วยังได้กินส่วนต่างของราคาซื้อขายอีก 200,000 บาท 

แต่หากสถานการณ์พลิกกลับไปอีกด้านและราคาประมูลจบที่ 900,000 บาท ก็เท่ากับว่าจะต้องทำการซื้อขายที่ราคานั้นซึ่งถือว่ามีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เสียด้วยซ้ำ เป็นเหตุให้ลูกหนี้จะต้องหาเงินส่วนต่างจากราคาซื้อขาย 100,000 มาชำระเอง ซึ่งในขณะเดียวกันสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้จำนองก็เล็งเห็นถึงความสามารถของลูกหนี้แล้วว่าอาจจะไม่สามารถหาเงินส่วนต่างมาชำระหนี้ได้อย่างง่ายดายภายในระยะเวลาสั้น ๆ และทรัพย์ที่นำมาขายทอดตลาดก็มีโอกาสที่จะทำราคาได้สูงกว่านั้น อาจจะเทียบเท่าหรือสูงกว่ายอดหนี้ก็ได้ และหากเป็นอย่างหลังคงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการจบกระบวนการบังคับคดีกับลูกหนี้ และเป็นที่มาว่าทำไมทั้งฝ่ายของเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็ต้องการดึงราคาการซื้อขายให้สูงเข้าไว้ แม้ว่าในบางครั้งการตัดสินใจแบบนี้จะเป็นการตัดโอกาสในการซื้อขายก็ตาม

อย่างไรก็ตามกฎหมายยังมุ่งไปที่การให้ความสำคัญกับทุก ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ เจ้าหนี้จำนอง หรือลูกหนี้ เมื่อผลประโยชน์ที่เอนเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไปอาจจะทำให้มีฝ่ายที่เสียประโยชน์ อย่างเช่นว่า…การซื้อขายในราคาที่ต่ำมาก ๆ จะเป็นผลดีกับผู้ซื้อแต่ผลเสียไปตกอยู่ที่ลูกหนี้จำนอง ในขณะที่หากราคาซื้อขายสูงผลประโยชน์อาจจะไปตกอยู่ที่ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้แต่ผลเสียอยู่ที่ผู้ซื้อเช่นกัน ดังนั้นการให้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมด้วยมูลค่าการประมูลที่ต่างฝ่ายต่างก็ยอมรับได้จึงเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ อยู่แล้วเพื่อที่จะสามารถทำการขายทอดตลาดได้เร็วและมีส่วนช่วยในการลดภาระของดอกเบี้ยและหนี้สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชอบอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง

สนใจหลักสูตรประมูลทรัพย์บังคับคดี คลิก

คลังความรู้อสังหาฯ

Scroll to Top