เคยสงสัยไหมว่าทำไมโครงการก่อสร้างโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ถึงต้องมีทีมออกแบบเฉพาะ
ว่ากันว่ายิ่งงานมีความละเอียดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าเพิ่งพูดถึงงานที่ทั้งละเอียดและมีต้นทุนสูงเลยเพราะถ้าให้พูดถึงค่าใช้จ่ายหรือการรับประกันความเสียหายที่จะตามมาในภายหลังแล้วคงต้องกดเครื่องคิดเลขกันจนมือหงิกแน่ ๆ
ยิ่งไปกว่านั้นมีใครบ้างล่ะที่อยากรับความเสี่ยงเอาไว้แค่คนเดียว
ไม่ใช่เจ้าของโครงการแน่ ๆ
และก็คงไม่ใช่ผู้รับเหมาอีกเช่นกัน
ฉะนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มสิ่งที่จะเข้ามารับประกันความเสี่ยงจากงานก่อสร้างทั้งเรื่องของต้นทุน ความปลอดภัย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องก็ตาม เหล่าเจ้าของโครงการจึงต้องยอมรับที่จะเปิดให้ผู้ร่วมทีมก่อสร้างอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการเช่นกัน โดยพวกเขาเรียกคนกลุ่มนี้ทีมออกแบบที่ชำนาญงานนั่นเอง
การมีทีมออกแบบดี ๆ สักทีมนอกจากจะช่วยให้มั่นใจได้แล้วว่าการวางองค์ประกอบโครงสร้างต่าง ๆ ของตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างจะอยู่ภายใต้หลักความปลอดภัยและถูกต้องตามหลัก กฎหมาย สิ่งเหล่านี้ยังเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้โครงการมีความน่าเชื่อถือขึ้นอีกเช่นกัน โดยผู้ออกแบบจะประกอบไปด้วยสถาปนิกและวิศวกรด้านต่าง ๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในส่วนของการออกแบบโครงสร้างแต่ละส่วนโดยเฉพาะรวมถึงงานสถาปัตยกรรมอื่น ๆ และทีมออกแบบก็ยังถือว่าเป็นผู้ตีโจทย์ความต้องการของเจ้าของให้มาอยู่ในรูปของการออกแบบและรายการข้อกำหนดได้อย่างลงตัวเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำการก่อสร้างตามที่ เจ้าของโครงการ ต้องการได้อย่างถูกต้องตรงใจ
และนี่ก็คือความสำคัญของการมีผู้ออกแบบสำหรับโครงการ
นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้นสถาปนิกและวิศวกรทีมผู้ออกแบบยังมีหน้าที่ความรับผิดชอบกับงานก่อสร้าง ดังนี้
อย่างที่ทราบกันดีว่างานของสถาปนิกและวิศวกรส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างก็คือการออกแบบโดยอิงตามความต้องการของเจ้าของโครงการและอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ข้อกำหนด กฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง แล้วนำมาประกอบกันให้กลายเป็นแผนโครงสร้างของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ โดยการออกแบบจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่สอดคล้องกับกำหนดเวลาหลักที่เจ้าของโครงการต้องการ และควรสอดคล้องกับกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างของผู้รับเหมาด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่า งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการสร้างบ้านหรืองานก่อสร้างก็รู้ได้เลยว่าต้องเป็นเงินจำนวนไม่น้อยแน่ ๆ ฉะนั้นแล้วใครล่ะที่จะเป็นคนคุมต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่เจ้าของโครงการ ไม่ใช่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่เป็นคนแบบเองที่จะบอกได้ว่าการก่อสร้างหนึ่งครั้งจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่เพื่อให้งานก่อสร้างนั้นออกมาตรงตามที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือการประมาณราคาค่าก่อสร้างคร่าว ๆ ให้เจ้าของโครงการได้ทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกหรือปรับปรุงแบบการก่อสร้างนั่นเอง
ถ้าพูดกันตามความจริงแล้วความรับผิดชอบของผู้ออกแบบก็ไม่ได้จบลงเมื่อทำการออกแบบแผนงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น แต่ในบางครั้งก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจความคืบหน้าของงวดงานจากผู้รับเหมาด้วยว่าเป็นไปตามหลักการออกแบบที่วางไว้หรือมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ ก่อนที่จะส่งงานให้กับลูกค้าที่เป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างการก่อสร้างและแจ้งความคืบหน้าเหล่านั้นให้เจ้าของโครงการทราบอีกครั้ง
นอกจากนี้สำหรับบางโครงการผู้ออกแบบยังมีส่วนในของการขออนุมัติการใช้วัสดุของผู้รับเหมาก่อสร้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุทดแทนวัสดุต้นแบบที่ระบุไว้ใน BOQ หรือการปรับเปลี่ยนวัสดุอื่น ๆ เพื่อไม่ให้กระทบถึงโครงสร้างเดิมที่วางไว้รวมถึงคุณภาพและความปลอดภัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อตัวอาคารและผู้อยู่อาศัย
จะเรียกว่าการออกแบบคือหัวใจหลักของการก่อสร้างก็คงไม่ผิดสักเท่าไหร่เพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพการก่อสร้างเลยก็ว่าได้ งานจะดีหรือแย่สิ่งที่คนจะย้อนกลับไปตั้งคำถามด้วยมากที่สุดก็คือแบบบ้านเพราะมีผลกระทบต่อหลายส่วนรวมถึงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทั้งผู้ออกแบบจึงถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับเจ้าของโครงการไม่มากก็น้อยเพื่อที่พวกเขาจะสามารถออกแบบได้ตรงตามความต้องการของเจ้าของงานมากที่สุดนั่นเอง